MGR Online - ตั้ง รอง ผบ.ตร.และผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นคณะทำงานโครงการเครื่องแบบสายตรวจใหม่ ให้เหมาะสมกับภารกิจ คล่องตัวกว่าเดิม นครบาลนำร่อง 3 โรงพัก สอบถามความคิดเห็นตำรวจ และประชาชน
วันนี้ (3 พ.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น ) พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น.และ พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รอง ผบช.น.แถลงข่าวกรณี บช.น.นำร่องโครงการพัฒนาเครื่องแบบตำรวจสายตรวจ 3 โรงพัก พล.ต.อ.มนู กล่าวว่า เป็นนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ที่ต้องการให้ตำรวจฝ่ายป้องกันปราบปราม (ปป.) หรือสายตรวจ มีเครื่องแบบเหมาะสมกับภารกิจ โดยมอบหมายให้ตนเป็นประธานที่ปรึกษาคณะทำงาน และ พล.ต.ท.รอย อิงคไพโรจน์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นประธานคณะทำงาน
ก่อนหน้านี้ ได้ช่วยกันคิดแล้วสอบถามความคิดเห็นจากตำรวจ และประชาชนทั่วประเทศ ว่า ต้องการเครื่องแบบแบบไหนสุดท้ายได้ข้อยุติแบบนี้ ผบ.ตร.ต้องการให้ บช.น.นำร่องทดลองใช้ 3 โรงพัก ได้แก่ บก.น.6 สน.จักรวรรดิ บก.น.7 สน.บางยี่ขัน และ บก.น.8 สน.บุคคโล โรงพักละ 10 นาย รวมทั้งหมด 30 นาย เริ่มตั้งแต่วันที่ 3-12 พ.ค. รวมระยะเวลา 10 วัน เพื่อพิจารณาดูว่า 1. ตำรวจที่ใช้มีความคล่องตัวคล่องแคล่วเหมาะสมกับภารกิจหรือไม่ และ 2. ประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า บช.น.ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนทดลองใช้เครื่องแบบสายตรวจใหม่ ได้แก่ สน.จักรวรรดิ สน.บางยี่ขัน และ สน.บุคคโล โดยเลือกโรงพักที่มีความพร้อม มีขนาดพื้นที่รับผิดชอบพอเหมาะ และมีประชากรหนาแน่น สำหรับเครื่องแบบใหม่จะติดตั้งอุปรณ์ประจำกายแบบเดิมที่ ตร.แจกจ่ายครบถ้วน อาทิ เสื้อป้องกัน อาวุธปืนสั้นและยาว วิทยุสื่อสาร และปืนสตันไฟฉายไว้สำหรับชุดแก้ไขปัญหาของแต่ละโรงพัก ส่วนจะมีให้ตำรวจทุกนายหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายของ ตร.
พล.ต.ต.สมประสงค์ กล่าวว่า ส่วนประกอบของเครื่องแบบดังกล่าว ประกอบด้วย 1. หมวก เดิมใช้หมวกหม้อตาลมีน้ำหนักใส่แล้วไม่แน่น เกิดความไม่คล่องตัวขณะปฏิบัติภารกิจ จึงเปลี่ยนเป็นหมวกแก็ป 2. เสื้อ มีลักษณะ 2 ส่วน คือ บริเวณหน้าอกเป็นสีและเนื้อผ้าแบบเดิม บริเวณลำตัวเป็นผ้ายืดระบายอากาศ เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทยที่เป็นเมืองร้อน เมื่อสวมใส่เสื้อกันกระสุนแล้วไม่ร้อนไม่อึดอัด เวลาอยู่ใกล้ประชาชนเหงื่อไม่ไหลไคลย้อยไม่รู้สึกรังเกียจ ขาดยากแล้วเวลาซักแห้งง่ายไม่ต้องรีด และสามารถพับแขนได้
3. เครื่องหมาย เดิมเป็นโลหะไม่คล่องตัว เวลาจับคนร้าย ตรวจค้น หรือดูแลประชาชนมีโอกาสไปเกี่ยวทิ่มแทงตำรวจ ประชาชน และผู้ต้องหา จึงเปลี่ยนเป็นเครื่องหมายแบบตีนตุ๊กแก สะดวก ง่าย และไม่เป็นอันตราย ที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ผู้ต้องหาร้องเรียนได้รับบาดเจ็บ 4. กางเกง เปลี่ยนเป็นกางเกงแทคติคอล ขอบยางยืด สามารถลุกนั่งได้สบาย จะไม่เกิดเหตุการณ์เป้าปริขาด มีกระเป๋าใส่อุปกรณ์หลายแห่ง และ 5. รองเท้า เดิมเป็นคอมแบตหนังมีน้ำหนัก จึงเปลี่ยนเป็นรองเท้ายุทธวิธีหุ้มข้อ เบาไม่เจ็บเท้า
พล.ต.อ.มนู กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับงบประมาณ ตร.ไม่ได้ตั้งไว้ เนื่องจากทุกปีแจกจ่ายเครื่องแบบให้ตำรวจอยู่แล้ว ถ้าเครื่องแบบนี้เห็นควรเหมาะสม ตร.ก็จะสนับสนุนให้ตำรวจทุกนาย ราคาอยู่ที่ประมาณ 2,600 บาท ย้ำว่า ขณะนี้เป็นการทดลองยังไม่ได้ใช้งานจริง หลังจากนี้ ต้องสอบถามความคิดเห็นจากตำรวจ และประชาชนอีกครั้งว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร แล้วมาสรุปว่าจะใช้เครื่องแบบนี้ หรือเปลี่ยนเป็นแบบอื่น เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
จากนั้นจะเสนอไปยัง ผบ.ตร.ตัดสินใจ เมื่อยืนยันแล้วว่าใช้เครื่องแบบแบบนี้ หรือแบบอื่น ก็ออกระเบียบรองรับใครแต่งเลียนแบบจะมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ ตำรวจยังสวมใส่เครื่องแบบปัจจุบันอยู่ โดยประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นทางกองสารนิเทศ ตร. สื่อมวลชน ช่องทางอื่นๆ หรือ 191 แต่ช่วงนี้มีภารกิจเยอะ ทั้งเรื่องประสานรับแจ้งผู้ป่วยโควิด-19 และอาชญากรรมทั่วไป.