xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.โต้กลุ่มคนเดือนตุลา โวยแกนนำม็อบติดคุกไม่ปลอดภัย ยันดูแลทุกคนเท่าเทียมตามหลักสากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - โฆษกยุติธรรม เผย “สมศักดิ์” กำชับกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกคนตามหลักสากล ไม่มีการคุกคามแกนนำ-ปิดกั้นพบทนายสู้คดี ตามกลุ่ม OctDem กล่าวอ้าง

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64 กลุ่มคนเดือนตุลา OctDem เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรื่อง “การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย” เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานราชทัณฑ์ มีคำสั่งไปยังผู้รับผิดชอบให้ดูแลปกป้องผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาทางการเมืองที่ถูกจองจำให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิต หลังมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผู้ต้องหายามวิกาล รวมถึงเปิดโอกาสให้ได้ติดต่อหารือกับทนายความเพื่อต่อสู้คดีด้วยนั้น

วันนี้ (30 เม.ย.) นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจหลังได้รับทราบรายงานดังกล่าว พร้อมยืนยันว่ากรมราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ภายใต้ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (SMR) ข้อกำหนดแมนเดลา 2558 (MR) ข้อกำหนดกรุงเทพ (BR) และกฎเรือนจำของสหภาพยุโรป (EPR) และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560

“โดยตั้งแต่วันรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ จะต้องทำการตรวจสุขภาพร่างกาย ดูแลสุขภาพอนามัยและสุขาภิบาล การบริการทันตกรรม รวมถึงการออกกำลังกายให้กับผู้ต้องขังทุกราย แต่เมื่อโควิด-19 มีการระบาด กรมราชทัณฑ์จึงได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อในการกักตัวและตรวจหาเชื้อโดยวิธีวัดอุณหภูมิ พร้อมตรวจโควิดแบบแหย่จมูก (Swab) 14 วัน ก่อนปล่อยเข้าสู่แดนแรกรับเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งในประเด็นดังกล่าวศาลได้ไต่สวนและมีคำสั่งไปแล้ว”

นายวัลลภเผยอีกว่า ส่วนกรณีการติดต่อหารือกับทนายความเพื่อปรึกษาเรื่องคดีนั้น รมว.ยุติธรรมยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ไม่เคยปิดกั้นผู้ต้องขังหรือจำเลย โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 61 ให้เรือนจำจัดสถานที่ให้ผู้ต้องขังได้พบและปรึกษากับทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว ได้ตามที่กำหนดในระเบียบกรมราชทัณฑ์ ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง SMR 93 และข้อกำหนดแมนเดลา ข้อ 61 เช่นเดียวกับกรณีของ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ที่มีทนายความสิทธิมนุษยชนเข้าเยี่ยมเยียนเป็นการส่วนตัวภายใต้มาตรการควบคุมป้องกันโรคติดต่ออย่างเป็นประจำ
กำลังโหลดความคิดเห็น