xs
xsm
sm
md
lg

ร้อง ยธ.เอาผิดบริษัทขายตรงหลอกเหยื่อร่วมระดมทุน หลัง สคบ.ดำเนินคดีไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - องค์การต่อต้านแชร์ลูกโซ่ ร้องทุกข์ กระทรวงยุติธรรม ช่วยเหลือผู้เสียหายหลัง สคบ. ไม่สามารถเอาผิดบริษัทขายตรง หลอกเหยื่อร่วมลงทุนแต่ไม่ได้รับเงินปันผลตามกำหนด

วันนี้ (2 เม.ย.) ที่กระทรวงยุติธรรม (แห่งใหม่) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ ผู้ก่อตั้งองค์การต่อต้านแชร์ลูกโซ่และหัวหน้าพรรคมะลิ (เดิม ภาคีเครือข่ายไทย) พาผู้เสียหาย เข้าพบ ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อยื่นเรื่องขอให้ตรวจสอบการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในฐานะผู้ออกใบอนุญาตให้บริษัทกลุ่มหนึ่งขายตรง ก่อนชักชวนผู้เสียหายร่วมลงทุนแต่ไม่ได้รับเงินปันผล และ ขอให้ตรวจสอบการดำเนินธุรกิจออนไลน์ที่ชักชวนสมัครแพกเกจลงทุนแต่ไม่มีการจดทะเบียนขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวว่า วันนี้ผู้เสียหายรวมตัวมาร้องเรียน กระทรวงยุติธรรม ซึ่งมองว่าตัวเองเปรียบเสมือนลูกฟุตบอลที่ถูกเตะไปมา ทางกระทรวงยุติธรรมจึงรับเรื่องไว้ตรวจสอบเพราะผู้เสียหายไม่สบายใจหลังยื่นเรื่องที่ สคบ. และอาจดำเนินการล่าช้า โดยจะประสานดีเอสไอในการช่วยเหลือทางคดีต่อไป

ด้าน น.ส.กฤษอนงค์ เผยว่า กลุ่มผู้เสียหายมาร้องขอให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบการทำงานของ สคบ. เนื่องจากเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้กับบริษัทขายตรงกาแฟและบริษัทจำหน่ายข้าวยี่ห้อหนึ่ง เมื่อผู้เสียหายร่วมลงทุนไปแล้วแต่ไม่ได้รับเงินปันผลตามที่กำหนด ทำให้ประชาชนเกิดความเสียหายจำนวนมาก โดยมูลค่าความเสียหายจากบริษัทขายตรงกาแฟ กว่า 100 ล้านบาท และ บริษัทจำหน่ายข้าวประมาณ 4,000 ล้านบาท

“กลุ่มผู้เสียหายเคยยื่นเรื่อง สคบ. เมื่อ 8 เดือนที่แล้วแต่ไม่ได้รับการเยียวยา อ้างว่า เป็นผู้จำหน่ายอิสระหรือสมาชิกตัวแทนจำหน่าย ไม่ใช่ผู้บริโภคจึงไม่มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยาใดๆ ทำให้สมาชิกได้รับผลกระทบทั่วประเทศ จึงมาขอให้กระทรวงยุติธรรมให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า 2 บริษัทดังกล่าว ขณะนี้ยังเปิดรับสมาชิกอยู่เพราะอ้างว่ามีใบอนุญาตจาก สคบ.”

น.ส.กฤษอนงค์ เผยอีกว่า ส่วนการดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์มหนึ่ง เปิดให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ ได้รับแจ้งจากประชาชนทั่วไปว่ามีกลุ่มคนเชิญชวนให้สมัครแพกเกจลงทุนในต่างประเทศ อ้างว่า ลงทุนเริ่มต้น 4,000 บาท ให้ผลตอบแทนสูงถึงหลักล้านบาท พบว่า ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย และมีพฤติการณ์เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน จึงมาร้องเรียน กระทรวงยุติธรรม ก่อนความเสียหายจะเกิดขึ้น และสร้างเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในยุคดิจิทัลต่อไป

ขณะที่ นายปิยะศิริ กล่าวว่า ขณะนี้ดีเอสไอได้ตั้งเลขสืบสวนคดีลงทุนธุรกิจข้าวแล้ว ในสัปดาห์หน้าจะสรุปสำนวนเสนอ อธิบดีดีเอสไอ พิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ส่วนการลงทุนในแพลตฟอร์มออนไลน์ เบื้องต้นทราบว่า ธุรกิจดังกล่าวไม่มีการจดทะเบียนธุรกิจในประเทศไทย แต่เปิดระดมทุนในประเทศไทยและอ้างนำเงินไปไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งผู้ลงทุนเคยเห็นเอกสารที่แสดงการลงทุนในต่างประเทศหรือไม่ ดังนั้น สัปดาห์หน้าจะหารือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงยุติธรรมรับเรื่องร้องเรียนและส่งเรื่องมาที่ดีเอสไอแล้ว พนักงานสอบสวนจะเรียกผู้ที่ดำเนินการชักชวนมาชี้แจง เนื่องจากการเชิญชวนบุคคลมาลงทุน โดยอ้างมีการจดทะเบียนธุรกิจนอกราชอาณาจักรจะต้องมีหลักฐานที่แท้จริงมาแสดงต่อดีเอสไอ






กำลังโหลดความคิดเห็น