xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญาไม่ให้จำหน่ายคดีบุกบ้านสี่เสาฯ หลัง “ตู่-จตุพร” แถลงศาล อ้างนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องไม่ครบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ศาลอาญาไม่ให้จำหน่ายคดี นปช.บุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ สำนวนสอง หลัง “ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” แถลงต่อศาล อ้างอัยการนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องไม่ครบ นัดดำเนินกระบวนพิจารณาคดี 7 มิ.ย.นี้

วันนี้ (22 มี.ค.) ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดพร้อมคู่ความคดีชุมนุมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ สำนวนที่สอง หมายเลขดำ อ 2799/2557 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ นายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ชุมนุม นปช. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216

กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง สำหรับสำนวนคดีที่สองนี้ อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2557 ภายหลังจากนายจตุพร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พ้นสมัยประชุมสภา โดยก่อนหน้านี้คดีสำนวนแรก หมายเลขดำ อ 3531/2552 พนักงานอัยการได้ฟ้องแกนนำ นปช. และผู้ชุมนุมรวม 7 ราย ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุก นายนพรุจ หรือ นพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. คนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา

และเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2563 ในการนัดพร้อมคดี นายจตุพร จำเลยที่ 1 ได้แถลงต่อศาลว่า คดีนี้ในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการได้ตั้งสำนวนมีผู้ร่วมกระทำความผิดในส่วนของจำเลยพร้อมกับผู้ต้องหาอีกจำนวนหลายคน แต่เนื่องจากอัยการมีคำสั่งให้ฟ้องผู้ต้องหาแต่ละคนแยกสำนวนคนละคดีในลักษณะเลือกตัวบุคคลซึ่งเป็นการมิชอบ จำเลยที่ 1 เห็นว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันในคดีเดียวกัน จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าว ต่อมาวันที่ 9 พ.ย. 2563 อัยการโจทก์แถลงถึงผู้ต้องหาที่เหลือมีทั้งคดีขาดอายุความและเสียชีวิตแล้ว จำเลยจึงขอทราบเกี่ยวกับเรื่องการทำงานของโจทก์ในการติดตามตัวที่เหลือมาฟ้องคดีที่ศาล

วันนี้ อัยการโจทก์, จำเลยที่ 1-2 พร้อมทนายความเดินทางมาศาล โดยประเด็นพิจารณา มีอาทิ กรณีที่ นายจตุพร จำเลยที่ 1 ได้ระบุเรื่องอัยการโจทก์ไม่ตามตัว นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ อดีตอธิบดีศาลอาญา ในฐานะอดีตแกนนำ นปช. มาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลเรียกนายมานิตย์ มาทำการไต่สวน ไม่เห็นโจทก์ติดตามตัวผู้ต้องหาที่อยู่ต่างประเทศมาดำเนินคดี โจทก์ใช้วิธีการฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่โจทก์ระบุข้อเท็จจริงต่างๆ ครบถ้วนแล้ว มีการติดตามตัวผู้ต้องหา แจ้งพนักงานสอบสวนให้ไปดำเนินการขอหมายจับผู้ต้องหาแล้ว เมื่อจับกุมตัวไม่ได้ เข้าที่ประชุมจึงสั่งยุติคดี

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ การที่พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องบุคคลใดต่อศาลหรือไม่นั้น ย่อมเป็นดุลพินิจของพนักงานอัยการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายมานิตย์, นายบรรธง สมคำ, ม.ล.วีระยุทธ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, นายจักรภพ เพ็ญแข และ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ทั้ง 5 คนดังกล่าวคดีขาดอายุความ พนักงานอัยการได้มีคำสั่งยุติคดีไปแล้ว

การที่ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องเข้ามาขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อให้โจทก์ดำเนินการให้นำตัวบุคคลดังกล่าวให้มาฟ้องคดีต่อศาลนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะให้ศาลต้องจำหน่ายคดีชั่วคราวตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง ยกคำร้อง ไม่จำต้องเรียกพนักงานสอบสวน และนายมานิตย์ มาทำการไต่สวนอีก ซึ่งหากจำเลยทั้งสองเห็นว่าการดำเนินการของพนักงานอัยการเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นคดีต่างหากอีกเรื่องหนึ่ง ในชั้นนี้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเข้ามาตามกฎหมายแล้ว จึงให้ดำเนินคดีนี้ตามกฎหมายต่อไป เลื่อนคดีไปนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน เพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน ในวันที่ 7 มิ.ย. 2564 เวลา 09.30 น.




กำลังโหลดความคิดเห็น