ศาลฎีกาสั่งคืนสำนวนคดี “แทน เทือกสุบรรณ” กับพวกรุกป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีใหม่ตามพยานหลักฐานเดิม
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (18 มี.ค.) ที่ศาลอาญาถ.รัชดาภิเษก ห้องพิจารณา 811 ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีรุกป่าเขาแพง หมายเลขดำที่ อ.3534/2556 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายพรชัย ฟ้าทวีพร อายุ 58 ปี ผจก.ห้างหุ้นส่วนเรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น, นายสามารถ หรือโกเข็ก เรืองศรี อายุ 66 ปี หุ้นส่วน หจก.เรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น และนายหน้าขายที่ดิน นายแทน เทือกสุบรรณ อายุ 42 ปี บุตรชายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. และนายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล อายุ 63 ปี อดีตเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางป่า หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐโดยมิได้มีสิทธิครอบครองหรือไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 22
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 27 ก.ย. 2543 - 5 ต.ค. 2544 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 97 ตร.ว. ส่วนจำเลยที่ 3-4 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 14 ไร่ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดจริง พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-4 จำคุกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากเป็นเรื่องร้ายแรง
ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้ง 4 ทุกข้อหา
อัยการโจทก์ยื่นฎีกา วันนี้จำเลยที่ 1-4 เดินทางมาศาล
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ในส่วนของ นายพรชัย จำเลยที่ 1 กับนายสามารถ จำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-2 ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิกับ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54, 55, 72 ทวิ โดยระบุถึงฐานความผิดของจำเลยทั้งสี่อย่างชัดแจ้ง และบรรยายฟ้องมีสาระสำคัญ ว่า จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันบุกรุกอันเข้าไปยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าที่เกิดเหตุเนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน-97 ตร.ว. อันเป็นการทำลายป่าเขาแพง ตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ และเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้มีบุคคลใดได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายที่ดิน โดยจำเลยที่ 1-2 ไม่มีสิทธิครอบครอง หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย
ที่อัยการมีคำขอท้ายฟ้องดังกล่าว จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ได้ระบุการกระทำที่อ้างว่าจำเลยที่ 1-2 ได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับวัน เวลา สถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งเกี่ยวข้องด้วย ได้พอสมควรเท่าที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว
ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 1-2 จะเป็นความผิดหรือไม่อย่างไร จะยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าที่เกิดเหตุอย่างไรบ้าง เป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา และเป็นเรื่องที่ศาลจะวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนต่อไป โดยคดีนี้ทั้งจำเลยที่ 1-2 ก็เข้าใจข้อหาได้ดีโดยให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดีตลอดตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยจำเลยอ้างว่ามีสิทธิครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุตามกฎหมาย และเป็นการซื้อขายต่อมาจากเจ้าของที่ดินรายเดิม การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก.ทั้ง 3 แปลงปฏิบัติโดยถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้น ฟ้องของอัยการโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1-2 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 158 (5) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ข้อนี้ของอัยการฟังขึ้น
ประกอบกับคดีนี้ จำเลย ที่ 1-4 ในชั้นอุทธรณ์ก็ต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1-2 โดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยยังมิได้วินิจฉัย อุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1-2 ที่โต้แย้ง คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด แต่กลับข้ามไปพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของ นายแทน จำเลยที่3 กับ นายบรรเจิด จำเลยที่ 4 ซึ่งมีความเกี่ยวพันต่อเนื่องเชื่อมโยงกับการกระทำของจำเลยที่ 1-2 ทั้งที่มูลเหตุของการดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 4 คน สืบเนื่องมาจากที่ดิน ส.ค.1 ทั้ง 3 แปลงที่ จำเลยที่ 1-2 นำมาดำเนินการขอออกหนังสือรับรอง น.ส.3 ก. ทั้ง 3 แปลงที่เกิดเหตุ ซึ่งการที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1-2 ต่อไปนั้นอาจเป็นผลให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เปลี่ยงแปลงไป ดังนั้นเพื่อให้การวินิจฉัยคดีไม่เป็นการลักลั่นและการกำหนดโทษของจำเลยทั้ง 4 คนเป็นไปตามลำดับศาล เพราะผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความได้
ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เดิมและให้ย้อนสำนวนคดีนี้กลับคืนให้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณา และมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เคยตัดสินให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด โดยให้ย้อนสำนวนคดีนี้กลับคืนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี การที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเช่นนี้ เท่ากับว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่มีผล จากนี้ศาลอุทธรณ์จะต้องนำสำนวนคดีมาพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ซึ่งอาจจะมีคำพิพากษาลงโทษ หรือยกฟ้องก็เป็นไปได้ ส่วนระยะเวลาการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จะใช้ระยะเวลานานเท่าใดไม่อาจทราบได้