xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” รับสำนวนคดีทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์รถไฟ ประสาน “ปปง.” เร่งตามทรัพย์คืนผู้เสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - บช.ก.มอบสำนวนสอบสวนพร้อมผู้ต้องหาคดีทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟให้ดีเอสไอ หลังรับเป็นคดีพิเศษ บูรณาการร่วม ปปง.ยึดอายัดทรัพย์ผู้กระทำผิด

วันนี้ (24 ก.พ.) พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะรองอธิบดีที่กำกับดูแล สั่งการให้ นายระวี อักษรศิริ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา, นายธวัชชัย รัตนปรีชาชัย รอง ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา และนายพงษ์ธวัช อ่วมสำอางค์ ผอ.ส่วนคดีฟอกเงิน 3 พร้อมคณะ ประสานการปฏิบัติกรณีดีเอสไอรับเรื่องการทุจริตของอดีตผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด เพื่อดำเนินการต่อบุคคลที่กระทำความผิดในสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ เป็นคดีพิเศษที่ 21/2564 รวมมูลค่าทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดประมาณ 2,285 ล้านบาท

พ.ต.ท.กรวัชร์เผยอีกว่า ล่าสุดวันนี้ เวลา 13.30 น. พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มอบหมายให้ พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รองผู้บังคับการตำรวจรถไฟ ส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาฟอกเงิน (คดีอาญาที่ 41/2563) พร้อมทั้งตัวผู้ต้องหา คือ นายบุญส่ง หงษ์ทอง กับพวกรวม 9 คน ให้ดีเอสไอดำเนินการตามมาตรา 22 วรรคหนึ่ง อนุมาตรา 1 และวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการคดีพิเศษ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2547 ข้อ 5 โดยภายหลังจากนี้เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และข้อสั่งการกับผู้กระทำความผิดทางอาญาในทุกมิติ ดีเอสไอ ได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการยึด หรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และขอให้พนักงานอัยการมีคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืน หรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย ตลอดจนสมาชิกสหกรณ์จำนวนกว่า 6,000 ราย และสหกรณ์พันธมิตรอีก 15 แห่งต่อไป

“ทั้งนี้ เพื่อเยียวยา และให้สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟสามารถบริหารจัดการต่อไปได้ โดยจะดำเนินการเชิงบูรณาการ ร่วมกับ ปปง.ควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ส่งผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ และได้ทรัพย์สินคืนให้ผู้เสียหายโดยเร็ว ทั้งยังจะขยายผลไปยังเครือข่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งถือเป็นดอกผลที่สามารถดำเนินการกับทรัพย์สินได้ในอีกทางหนึ่ง อันเป็นการสนองตอบต่อปัญหาการทุจริต และนำทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดฐานฟอกเงินคืนให้แก่ผู้เสียหาย ดีเอสไอ และ ปปง.จะเร่งรัดติดตามบุคคลและทรัพย์ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 อย่างเด็ดขาดต่อไป”






กำลังโหลดความคิดเห็น