MGR Online - เลขานุการ รมว.ยุติธรรม แจ้งความเอาผิดเกรียนคีย์บอร์ด อ้าง “เพนกวิน” โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ยันผู้ต้องขังนำมือถือเข้าเรือนจำไม่ได้ มีมาตรการตรวจเข้ม คาดผู้ไม่หวังดีสร้างเฟกนิวส์
วันนี้ (13 ก.พ.) ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร โพสต์ข้อความและภาพข้อความเขียนด้วยลายมือในเฟซบุ๊กว่า เรื่องนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม รับทราบแล้ว และสั่งการให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ตรวจสอบ เบื้องต้นได้รับรายงานว่าข้อความที่เขียนด้วยลายมือนั้น นายพริษฐ์เขียนไว้ตั้งแต่ตอนที่อยู่ในศาล และมีเพื่อนถ่ายรูปเอาไว้ โดยขณะนั้นมีตำรวจ สน.พหลโยธิน 1 นาย เจ้าพนักงานตำรวจศาล 3 นาย นายพริษฐ์และพวกรวม 4 คน ทีมทนาย 3 คน พอทราบว่าไม่ได้ประกันตัวจึงขอรับประทานอาหาร พร้อมเขียนจดหมายที่บริเวณศาล และจึงส่งตัวให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครต่อไป แต่ใครเป็นผู้นำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กนั้นคงต้องให้ทางตำรวจสืบสวน
ว่าที่ ร.ต.ธนกฤตกล่าวอีกว่า ส่วนการเข้าเยี่ยมนายพริษฐ์นั้นมีเพียงทนายความส่วนตัวเท่านั้นที่เยี่ยมได้ และเป็นการเยี่ยมผ่านวิดีโอคอลทางไลน์ ไม่ได้เจอหน้ากัน เพราะนายพริษฐ์อยู่ในระหว่างการกักตัวเพื่อควบคุมโรคโควิด 14 วัน นอกจากนี้ การตรวจสอบอย่างละเอียดของเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ปรากฏว่ามีการนำเครื่องมือสื่อสารหรือโทรศัพท์มือถือเข้าไปได้ เพราะในระหว่างการส่งตัวเข้าสู่เรือนจำจะมีการตรวจค้นอย่างละเอียดกับทุกคน ดังนั้นไม่มีทางที่ผู้ต้องขังจะนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปได้ และมั่นใจว่านายพริษฐ์ไม่สามารถโพสต์เฟซบุ๊กได้อย่างแน่นอน น่าจะเป็นการโพสต์จากนอกเรือนจำ
ว่าที่ ร.ต.ธนกฤตกล่าวต่อว่า นายสมศักดิ์ได้สั่งให้กรมราชทัณฑ์ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว โดยในช่วงดึกวันที่ 12 ก.พ. ตนได้ไปแจ้งความและลงบันทึกประจำวันที่ สน.ร่มเกล้า เพื่อให้ตำรวจสืบหาผู้โพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวในข้อหาทำให้เกิดความเสียหายต่อกรมราชทัณฑ์ และ รมว.ยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีเฟซบุ๊กอื่นๆ ที่กล่าวหา รมว.ยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในเชิงรู้เห็น ปล่อยให้ปลุกระดมและเป็นพวกเดียวกันกับนายพริษฐ์ ขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีด้วย
ว่าที่ ร.ต.ธนกฤตกล่าวเพิ่มเติมว่า ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่เป็นความจริง เราปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกคน ไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และในครั้งก่อนที่นายสมศักดิ์เข้าไปพบนายพริษฐ์ในเรือนจำ ตนก็ได้เข้าไปด้วย เป็นเพียงการเข้าไปดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยเท่านั้น เพราะขณะนั้นมีกระแสข่าวว่านายพริษฐ์และเพื่อนถูกทำร้ายร่างกายจึงต้องเข้าไปตรวจสอบ เพราะนักโทษทางการเมืองมีความละเอียดอ่อน จึงต้องตรวสอบและให้สังคมรับทราบข้อเท็จจริง ยืนยันว่าเรามีหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมตามหลักสิทธิมนุษยชน
“ผมยืนยันว่าเราไม่ได้ปล่อยปละละเลย หรือให้ใครมาปลุกระดมจากภายเรือนจำ เรามีกฎการควบคุมที่เข้มงวด ไม่มีการให้อภิสิทธิ์ใครใช้เครื่องมือสื่อสารใดๆ ได้จากภายในเรือนจำ ดังนั้น เรื่องนี้เราต้องตรวจสอบว่าใครเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กของนายพริษฐ์ไปโพสต์ข้อความดังกล่าว นอกจากนี้ ในส่วนของเฟกนิวส์ที่มีการโพสข้อความในการสร้างความเสียหายแก่กระทรวงยุติธรรม ขอให้หยุดการกระทำนั้น เราควรมาพูดคุยกันด้วยเหตุและผล หากพบว่าใครยังกระทำการพยายามสร้างความเสียหายให้แก่กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เราจะฟ้องร้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเพื่อเป็นเยี่ยงอย่าง ผมขอยืนยันว่ากระทรวงยุติธรรมไม่เคยใช้เครื่องมือทางกฎหมายไปกลั่นแกล้งใครหรือฝ่ายใดทั้งสิ้น เราดำเนินการตามหลักกฎหมายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม” ว่าที่ ร.ต.ธนกฤตกล่าว
ด้านนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ภาพกระดาษพร้อมลายมือของนายพริษฐ์ที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้ เป็นข้อความที่นายพริษฐ์ได้เขียนขึ้นที่ห้องเวรชี้สองสถานของศาลอาญา และส่งต่อให้แก่ทนายความของตนเอง ภายหลังจากที่ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 9 ก.พ. เวลาประมาณ 17.55 น. ก่อนที่จะถูกนำตัวกลับมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ดังนั้น การที่ภาพดังกล่าวไปปรากฏอยู่บนเพจเฟซบุ๊กของนายพริษฐ์ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. เวลา 00.05 น. เป็นการดำเนินการโดยผู้ดูแลหรือแอดมินแฟนเพจซึ่งมีได้หลายคน ไม่ใช่การโพสต์โดยตัวนายพริษฐ์เอง เนื่องจากโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ เป็นสิ่งของต้องห้าม ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายพริษฐ์จะมีโทรศัพท์มือถืออยู่ในความครอบครอง ขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
นายอายุตม์เผยด้วยว่า ขอให้สังคมและประชาชนทุกฝ่ายเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นมาตรฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 รวมถึงกฎ ระเบียบ และวินัยต่างๆ ที่ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ทุกคนพึงปฏิบัติและได้ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด