MGR Online -“อายุตม์” แจงไม่มีซื้อขายกำไล EM เพื่อพักโทษในเรือนจำสมุทรสาคร ย้ำมี คกก. พิจารณาการพักโทษ ตามเกณฑ์ที่กำหนด
วันนี้ (8 ก.พ.) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงกรณีที่ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ร้องเรียนว่า เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร มีการขายกำไลอีเอ็ม (EM) ให้แก่ญาตินักโทษรายหนึ่งในการพักการลงโทษ นั้น ขอเรียนว่า ภายหลังได้รับข้อร้องเรียนดังกล่าว ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบโดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเป็นการด่วนแล้ว
นายอายุตม์ เผยอีกว่า จากข้อมูลเบื้องต้นได้รับการรายงานจากเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร ว่า กรณีที่ถูกกล่าวอ้าง คาดว่า เป็นนักโทษเด็ดขาดชายที่เป็นอดีตตำรวจรายหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ถูกศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี 8 เดือน ความผิดฐานความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2563 จำนวน 2 รอบ คงเหลือโทษจำคุกครั้งหลังสุด 4 ปี 7 เดือน 17 วัน จึงเป็นนักโทษที่เข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ นักโทษเด็ดขาดที่มีโทษระยะสั้น กล่าวคือ เป็นนักโทษเด็ดขาดตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไป และเหลือโทษไม่เกิน 5 ปี ตลอดจนไม่มีลักษณะความผิดที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการฯ ตามประกาศกรมราชทัณฑ์
นายอายุตม์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของข้อสงสัยกรณีที่มีการเรียกรับเงินจากญาติผู้ต้องขัง หรือการซื้อ-ขายกำไล EM ให้แก่ญาติของนักโทษเพื่อให้ได้รับการพักการลงโทษนั้น กรมราชทัณฑ์ขอยืนยันว่ากรมราชทัณฑ์ ไม่มีนโยบายที่จะซื้อขายกำไล EM และ ไม่มีการเรียกรับเงินเพื่อดำเนินการใดๆ จากญาติทั้งสิ้น ทั้งนี้ การพิจารณาเพื่อพักการลงโทษเป็นไปตามประโยชน์ที่นักโทษเด็ดขาดทุกคนพึงจะได้รับตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
“โดยรายชื่อนักโทษเด็ดขาดทุกรายจากเรือนจำทัณฑสถานทั่วประเทศที่เข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ จะต้องได้รับการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ อันประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานคณะอนุกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เป็นคณะอนุกรรมการ โดยหากผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการ ที่กล่าวมาแล้ว ยังต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกชั้นหนึ่ง”
นายอายุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม หากญาติหรือผู้ใดพบเห็นการเรียกรับเงิน หรือสิ่งตอบแทนจากเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ หรือพบเห็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สามารถร้องเรียนเข้ามาได้ที่ ฝ่ายเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักผู้ตรวจราชการ กรมราชทัณฑ์ ที่หมายเลข 02-9672222 กด 0 หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตดังกล่าว จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและต้องถูกดำเนินการทางวินัยอย่างถึงที่สุด