ก.อ.ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายเเรง 2 อดีตอัยการภูเก็ต ปมเรียกรับเงินคดีแผ้วถางป่า หลัง กก.สอบสวนชั้นต้น-ป.ป.ช.ชงสำนวนให้ดำเนินคี
วันนี้ (27 ม.ค.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นประธานการประชุม ก.อ.ครั้งที่ 1/2564 โดยมีวาระน่าสนใจเกี่ยวกับการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง นายธรรมะ หรือ ชินโชติ สอนใจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 8 รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดภูเก็ตนายวันฉัตร ชุณหถนอม ในฐานะอัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้น ปมร่วมกันเรียกรับเงินจากตัวแทนของบริษัทเอกชน เพื่อช่วยเหลือทางคดี
โดยภายหลังประชุมเสร็จสิ้น นายอรรถพล ประธาน ก.อ. กล่าวว่าที่ประชุม ก.อ.มีมติให้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายเเรง ทั้ง 2 ราย โดยกรณีนี้มาจากที่ทางอธิบดีอัยการภาค 8 ซึ่งเป็นประธานกรรมการสอบสวนชั้นต้นได้เสนอให้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายเเรงประกอบกับมีหนังสือจากคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตเเห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งเรื่องมายังตนในฐานะประธาน ก.อ. จนเป็นที่มาของมติตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายเเรงในวันนี้ ในส่วนการดำเนินคดีอาญาก็ได้ทราบว่าทาง ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นให้ดำเนินคดีกับพนักงานอัยการทั้ง 2 รายไปยังอธิบดีอัยการปราบปรามการทุจริตภาค 8 พิจารณาสำนวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป ส่วนกรอบระยะเวลาของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายเเรงที่ ก.อ.ตั้งขึ้นมานั้นโดยหลักระยะเวลา 30 วัน เเต่สามารถขอขยายเวลาได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้จากสำนวนของ ป.ป.ช.สรุปว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2555 กรมอุทยานแห่งชาติได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ท่าฉัตรไชย กล่าวหาบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ตและกรรมการของบริษัทดังกล่าว ว่า กระทำความผิดในข้อหาร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าและเข้ายึดถือครอบครองป่าโดยตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
ต่อมาเมื่อคณะทำงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง และได้ส่งสำนวนไปให้อัยการจังหวัดภูเก็ตเพื่อพิจารณามีคำสั่ง ต่อมาบริษัทเอกชนและกรรมการของบริษัทดังกล่าวได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน จึงได้มีการเสนอสำนวนคดีไปยังอธิบดีอัยการภาค 8 ซึ่งอธิบดีอัยการภาค 8 มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทเอกชนและกรรมการของบริษัทดังกล่าว และได้ส่งสำนวนคดีไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 แต่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ โดยเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาชี้ขาด ซึ่งอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีดังกล่าวนายอำเภอเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนจึงอยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 จึงส่งสำนวนกลับคืนมาให้สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตเพื่อที่สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตจะได้ส่งสำนวนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตพิจารณาความเห็นของพนักงานอัยการ โดยสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตได้รับหนังสือดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2562 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2562 นายธรรมะ ในฐานะอัยการผู้เชี่ยวชาญ รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้นได้โทรศัพท์แจ้งพนักงานอัยการซึ่งเคยเป็นพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าวให้นัดหมายตัวแทนของบริษัทเอกชนเพื่อให้มาพบในวันที่ 2 ก.ค. 2562 หลังจากนั้น ตัวแทนของบริษัทเอกชนได้มาพบ นายธรรมะ ที่ห้องทำงานอัยการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมี นายวันฉัตร ชุณหถนอม ในฐานะอัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้นอยู่ด้วย
โดย นายธรรมะ เสนอว่า จะไปพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตให้มีคำสั่งไม่เห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า การกระทำของนายธรรมะ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 201 ประกอบมาตรา 83 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และมาตรา 173 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง การกระทำของนายวันฉัตรมีมูลความผิดทางอาญา มาตรา 157 และมาตรา 201 ประกอบมาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 171 มาตรา 172 และมาตรา 173 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง