xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญายกฟ้อง “บัณฑิต” นักเขียนเสื้อแดงไม่ผิดมาตรา 112 เปรียบเทียบฝุ่นละอองใต้เท้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลอาญายกฟ้องบัณฑิต” นักเขียนกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ผิด มาตรา 112 พูดเปรียบเทียบฝุ่นละอองใต้เท้า ชี้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย



วันนี้ (26 ม.ค.) ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.3049/2562 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้องนายจือเซง แซ่โค้ว หรือนามปากกา “บัณฑิต อานียา” อายุ 80 ปี นักเขียนนิยาย แนวร่วมคนเสื้อแดง เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โจทก์ฟ้องกรณีเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2558 ได้มีการจัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 50 คน โดยจำเลยได้แสดงความคิดเห็นกล่าวถ้อยคำต่อผู้เข้าร่วมเสวนาตอนหนึ่งว่า คุณค่าแห่งความเป็นคน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องสูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ฝ่าเท้าของคนบางคน ทำให้ผู้ที่ได้ฟังเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นการละเมิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ใส่ความในหลวงรัชกาลที่ ๙ การกระทำของจำเลยทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ ทรงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในพระองค์ เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม.

สำหรับคดีนี้ เดิมถูกพิจารณาในศาลทหารตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้คดีความมั่นคงในส่วนของพลเรือนขึ้นศาลทหาร ต่อมามีการยกเลิกคำสั่งภายหลัง จึงมีการโอนย้ายมาพิจารณายังศาลอาญาซึ่งเป็นศาลพลเรือน

วันนี้ นายจือเซง จำเลยซึ่งได้รับการประกันตัว ปัจจุบันมีโรคประจำตัวเป็นความดันสูง ภูมิแพ้ และเคยผ่าตัดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ เดินทางมาศาล โดยมี น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสา แนวร่วมกลุ่มราษฎรมาดูแล ขณะที่ภายในห้องพิจารณามีทีมทนายความ ผู้แทนสถานทูต และผู้ติดตามเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษานับสิบคน

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว พยานโจทก์เห็นว่าคำว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ฝ่าเท้า มาจากคำราชาศัพท์ว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขณะที่ฝ่ายจำเลยเห็นว่าฝุ่นละอองเป็นคำทั่วไป มีความแตกต่างจากคำว่าฝ่าละออง และไม่ได้เอ่ยชื่อผู้ใด ซึ่งอาจตีความแตกต่างกัน การใช้คำพูดดูหมิ่นหรือไม่ต้องพิจารณาภาพรวม โอกาส สถานที่ เป็นการใส่ความยืนยันหรือไม่ หมายถึงบุคคลใดโดยเฉพาะหรือไม่ ข้อความที่จำเลยกล่าวไม่มีข้อความสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นข้อความสามัญไม่ใช่ราชาศัพท์ ประกอบกับจำเลยเบิกความเป็นคนจีน คำว่าคุณค่าแห่งความเป็นคน จำเลยต้องการสื่อให้คุณค่าความเป็นคนสูงขึ้น คำว่าฝุ่นละอองมาจากหนังสือที่จำเลยอ่านใช้คำว่าใต้เท้า ไม่ได้หมายถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ พยานโจทก์มีหลักฐานสงสัยตามสมควรว่าหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น นายจือเซงเปิดเผยความรู้สึกว่า ที่ผ่านมาตนทำเพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน เรื่องที่ถูกนำมาฟ้องเป็นเรื่องเก่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 แล้ว เมื่อศาลยกฟ้องก็ถือว่าความยุติธรรมยังมีอยู่จริง ถ้าทางโจทก์มีการอุทธรณ์ตนก็คงจะด่ากลับ แต่หลังจากนี้ตนจะไม่ฟ้องกลับ ตนไม่ชอบเท้าความ ตามสำนวนจีนที่ว่าถ้าขึ้นโรงขึ้นศาล กินขี้หมาดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น