xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : หัวเราะมิได้ ร่ำไห้มิออก กก.สมานฉันท์ รอปาฏิหาริย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 19 มกราคม 2564 ตอน หัวเราะมิได้ ร่ำไห้มิออก กก.สมานฉันท์ รอปาฏิหาริย์



คณะกรรมการสมานฉันท์ เดินหน้าคลอดออกมาแล้วได้เห็นแล้ว รู้สึกเป็นอย่างไร ก็ต้องบอกว่า “หัวเราะมิได้ ร่ำไห้มิออก”
เพราะ หนึ่งนั้น เกิดความยินดีที่มีความพยายามจะแก้ปัญหาความแตกแยก ด้วยวิธีพูดคุยกัน จนได้กรรมการสมานฉันท์ชุดนี้ขึ้นมา เป็นเวทียุติปัญหาของบ้านเมืองด้วยสันติวิธี

แต่อีกด้านหนึ่งเป็นห่วงผลลัพธ์ คือความสำเร็จ ที่จะตามมา ในความเป็นจริงแล้วแทบจะมองไม่เห็น

ความพยายามผลักดันให้กรรมการสมานฉันท์คลอดออกมาได้ ใช้เวลากว่าสองเดือน ตั้งแต่ตอนม็อบสามนิ้วกำลังพีคสุดขีดเมื่อช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปีที่แล้ว จนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องชิงขอเปิดประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เป็นกรณีพิเศษเพื่อนำปัญหาม็อบการเมืองเข้าไปคุยในรัฐสภา จนเกิดคำมั่นสัญญาการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกัน ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันนั้น มีส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน-สมาชิกวุฒิสภา ลุกขึ้นอภิปรายกันหลายสิบคน โดยเฉพาะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล แสดงท่าที สนับสนุนให้มีการนั่งร่วมวงพูดคุยกัน

เพื่อเป็นหาทางออกสถานการณ์ในเวลานั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง เสียเลือดเสียเนื้อ รวมถึงเพื่อหลีกเลี่ยง การเกิดเหตุแทรกซ้อนเช่นการรัฐประหาร ที่มีการปล่อยข่าวกันอย่างหนักช่วงบิ๊กตู่ เจียนอยู่เจียนไป

โดยไม่ชักช้า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา รับลูกแนวคิดนี้ ไปขับเคลื่อน พยายามเข็นออกมาให้ได้ โดยใช้เวลาร่วมสองเดือน ซึ่งมีผู้บริหารสถาบันพระปกเกล้า คอยเป็นสนับสนุนการทำโมเดลการพูดคุยกันดังกล่าว ที่พยายามให้มีกรรมการจากทุกฝ่าย ทุกวง ทุกขั้วขัดแย้งการเมืองมาร่วมวงด้วย

แต่สุดท้าย แม้ทั้งชวน และฝ่ายวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ตลอดจนทีมประสานของรัฐบาล จะพยายาม ประสานเจรจา สองกลุ่มสำคัญให้มาร่วมวงด้วย คือ ฝ่ายแกนนำและผู้ประสานงานม็อบสามนิ้ว และตัวแทนฝ่ายค้าน

โดยเฉพาะจากสองพรรคหลักคือ เพื่อไทยกับก้าวไกล หรืออนาคตใหม่เดิม มีการพยายามคุยกันทั้งในรอบและนอกรอบหลายครั้ง เพื่อขอให้ส่งคนมาร่วมเป็นกก.สมานฉันท์ด้วย

แต่ก็ถูกสวนกลับจาก แกนนำม็อบสามนิ้ว ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม สาเหตุเพราะฝ่ายแกนนำม็อบมองว่าการตั้งกรรมการดังกล่าว เป็นแค่เกมการซื้อเวลาของฝ่ายรัฐสภาที่พรรคร่วมรัฐบาลกุมเสียงข้างมาก ที่ต้องการเอาความร้อนแรงของม็อบ จากนอกรัฐสภาเข้าไปอยู่ในรัฐสภา เพื่อหวังทำให้การชุมนุมสลายตัวไป

ที่สำคัญ แกนนำม็อบ รู้ดีว่า ข้อเรียกร้องหลัก เช่นการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถไปคุยได้ในรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นวงเล็กหรือวงใหญ่ จึงไม่ใช่แนวทาง ไม่อยากเสียเวลาไปร่วมเป็นกรรมการด้วย

ขณะที่ ทางด้านฝ่ายค้าน แกนนำฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่า หากไปร่วมด้วย ก็เท่ากับไปร่วมเป็นหนึ่งในเบี้ย ให้พรรคร่วมรัฐบาลใช้เดินหมาก ต่ออายุให้บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงชิงปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นกรรมการเช่นกัน

รวมถึงความเคลื่อนไหว ที่ ชวน พยายามจะทาบทาม สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯและน้องเขยทักษิณ ชินวัตรมาร่วมเป็นกรรมการด้วย ในฐานะสัดส่วนกรรมการสายอดีตนายกฯ แต่ก็ไม่มีสัญญาณตอบรับกลับมา ซึ่งคาดว่าตัว นาย สมชาย คงต้องการให้เป็นไปแนวเดียวกับพรรคเพื่อไทย คือไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย

เมื่อกรรมการสมานฉันท์ ไม่มีตัวแทนทุกฝ่ายมาร่วมด้วย ผู้คน ดูจะเชื่อไปในทางเดียวกันว่า สุดท้าย กรรมการสมานฉันท์ตั้งมาก็เสียเวลาเปล่า ทำงานไปก็ไม่ได้รับความร่วมมือ หากมีการจัดทำรายงานข้อเสนอแนะอะไร คงไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายอื่น

ด้วยที่ เป็นแค่กรรมการที่ตั้งโดยคำสั่งประธานรัฐสภา ที่ไม่ได้มีอำนาจอะไรมารองรับการทำงานทำให้การทำงานอาจเสียเวลา จนสุดท้าย ถึงเวลาทำงานเสร็จ เสียเวลาไปหลายเดือน ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการสมานฉันท์ระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมือง เป็นจริงได้

เพราะแค่ส่งเทียบเชิญมาร่วมเป็นกรรมการ ยังตั้งแง่ ชิงเหลี่ยมการเมืองกันขนาดนี้ เรื่องจะให้ฝ่ายค้านและม็อบสามนิ้วมาร่วมปรองดองด้วย จึงเป็นเรื่องคิดได้ แต่ทำยาก

ผลสุดท้ายกรรมการสมานฉันท์ขุดนี้อาจเหนื่อยฟรี การทำงานอาจสูญเปล่า เสี่ยงจะซ้ำรอย เหมือนกับกรรมการปรองดองสมานฉันท์ที่ตั้งมาแล้วไม่รู้กี่ชุดต่อกี่ชุดในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นมาร่วม 15-16 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณปลายปี 2548 จนถึงปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็นอาทิเช่น สมัยรัฐบาลอภิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ตั้ง คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่มี คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน หลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553

พอรายงานของ คอป.ออกมา ซึ่งมีการระบุถึงการชุมนุมที่มีความรุนแรง มีชายชุดดำ ปรากฏว่า ส.ส.เพื่อไทย ไปตั้งโต๊ะแถลงข่าวฉีกเอกสารรายงานต่อหน้าสื่อมวลชน แต่ครั้นพอ เพื่อไทย เข้าไปเป็นรัฐบาลปี 2554 กลับนำข้อเสนอเรื่องการเยียวยาของคอป.ทำออกมา เป็นเหตุการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้สูญเสียจากการชุมนุมทางการเมือง

โดยมีการให้เงินสูงสุดร่วมเจ็ดล้านกว่าบาท มีคนเสื้อแดง จำนวนมากได้รับเงินชดเชยไป จากอานิสงส์ของรายงานดังกล่าว ซึ่งมีข้อเสนอปรองดองหลายข้อ สะท้อนว่านักการเมือง เลือกที่จะหยิบยกเรื่องที่สร้างประโยชน์ทางการเมือง ให้กับตัวเองมาเท่านั้น

นอกจากนั้นในช่วงปลายรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ยังมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตสว.นนทบุรี เป็นประธาน ซึ่งก็ไม่ได้เสนออะไรเพื่อการสมานฉันท์อย่างจริงจังนอกจากเสนอให้แก้ไขรธน.

ในยุครัฐบาลเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีการวางแผนตั้ง คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน

จนต่อมา มีการสมคบคิดกัน ใช้ กมธ.ชุดดังกล่าว เสนอแนวทางการสร้างความปรองดองด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย จนเป็นที่มาของปรากฏการณ์ กปปส.และการรัฐประหาร ของคสช.ในปี 2557

ขณะที่สมัย คสช.และรัฐบาลบิ๊กตู่ 1 ก็มีเช่นกัน เช่น การใช้กลไก สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือสปช.ตั้ง คณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ซึ่งกรรมการชุดนี้ได้ เสนอผลการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองไว้หลายแนวทาง

เช่น การให้นิรโทษกรรมคดีการชุมนุมทางการเมืองทุกคดี แต่ต้องไม่รวมถึง คดีทุจริตและคดีทำผิดมาตรา 112 แต่รัฐบาลบิ๊กตู่ ก็ไม่ได้รับแนวทางอะไรไปทำ

มารอบนี้ ที่ ชวน รับเป็นโต้โผ ตั้งกรรมการสมานฉันท์ โดยมี เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ คนเก่าแก่ของประชาธิปัตย์ รับหน้าเสื่อ เป็นประธาน แมคนส่วนใหญ่จะเชื่อและฟันธงไปแล้วว่า งานนี้ชกลม โดยไม่ต้องสงสัย

แต่ก็มีคนส่วนหนึ่งเอาใจช่วย หวังให้กรรมการสมานฉันท์ชุดนี้ เป็นการจุดประกายการดับสัญญาณควันไฟความแตกแยกในบ้านเมืองด้วยการเจรจาพูดคุยกัน แทนการการเอาชนะคะคานด้วยความรุนแรง...จึงเอาใจช่วยให้กรรมการสมานฉันท์ชุดชวน หลีกภัย เดินหน้าต่อไป ขอให้ปาฏิหาริย์มีจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น