xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตฯ เห็นแย้งให้ประหาร “บรรยิน” โดยไม่ลดโทษ ชี้เป็นถึงนักการเมือง-ส.ส.แต่ไม่ยำเกรงกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม




MGR Online
อธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตฯ เห็นแย้งให้ลงโทษประหารชีวิต “พ.ต.ท.บรรยิน” โดยไม่ลดโทษ ระบุเป็นอดีตนักการเมืองและ ส.ส. พฤติการณ์ร้ายแรงไม่ยำเกรงกฎหมายควรลงโทษสถานหนัก แต่กลับคำให้การรับสารภาพภายหลังเพราะจำนนต่อหลักฐาน


วันนี้ (15 ธ.ค. ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา อดีตเจ้าของสำนวนคดีโอนหุ้น “เสี่ยชูวงษ์” ที่องค์คณะผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ให้ประหารชีวิต พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์ และ ส.ส. จำเลยที่ 1, นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์ จำเลยที่ 3, นายชาติชาย เมณฑ์กูล จำเลยที่ 4, นายประชาวิทย์ ศรีทองสุข จำเลยที่ 5 และ ด.ต.ธงชัย หรือ ส.จ.อ๊อด วจีสัจจะ จำเลยที่ 6 แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากคำให้การเป็นประโยชน์บางส่วน ขณะที่นายมานัส ทับทิม จำเลยที่ 2 พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือ จำคุก 33 ปี 4 เดือนนั้น

ปรากฏว่า นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีความเห็นแย้งคำพิพากษาขององค์คณะผู้พิพากษาสำนวนคดีนี้ไว้ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1, จำเลยที่ 2, จำเลยที่ 4-6 สถานเดียวโดยไม่ลดโทษ มีรายละเอียดสรุปว่า การก่อเหตุในคดีนี้ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีมูลเหตุจูงใจมาจาก จำเลยที่ 1 กับพวกไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี โดยโจทก์ร่วมไม่บันทึกคำพยานที่สำคัญที่ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกซักถามหรือถามค้านพยานและเมื่อจำเลยที่ 1กับพวกยื่นคำร้องคัดค้านและขอถอนโจทก์ร่วมออกจากการเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกาเพื่อคัดค้านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ประธานศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า กรณีมิใช่เหตุที่จะคัดค้านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน จึงไม่มีเหตุโอนสำนวนและมีคำสั่งให้ยุติเรื่อง ซึ่งในกรณีเช่นนี้หาใช่ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกจะหมดหนทางที่จะได้รับความยุติธรรม โดยจำเลยที่ 1 อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาสืบพยานในประเด็นคำพยานที่อ้างว่ามีความสำคัญนั้น และหากศาลไม่อนุญาตก็สามารถยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกา โดยขอให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิจารณามีคำวินิจฉัยให้สืบพยานในประเด็นคำพยานที่อ้างว่ามีความสำคัญนั้นได้ จำเลยที่ 1 เคยรับราชการตำรวจตำแหน่งพันตำรวจโท และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีมาก่อน ประกอบกับมีทนายความช่วยแก้ต่างคดีให้ แต่จำเลยที่ 1 กับพวกในคดีนี้กลับใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายเพื่อให้เจ้าพนักงานปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงสมควรลงโทษในสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างและเป็นการป้องปรามมิให้มีการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้อีก พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139, 140 วรรคแรก, 145 วรรคแรก, 199, 210 วรรคสอง, 288 (4) (7), 309 วรรคสอง, 310 วรรคสอง, 313 (3) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 146, พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 108 วรรคสอง จำเลยที่ 3-5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 วรรคแรก ประมกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139,140 วรรคแรก, 289 (4) (7), 309 วรรคสอง, 310 วรรคสอง, 313 (3) วรรคท้าย ประกอบมาตรา 314, 86 การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1, 2 และ 4-6 เพราะจำนนต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏจากภาพกล้องวงจรปิด ข้อมูลจากพยานบุคคลต่างๆ ที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำ รวมทั้งข้องมูลจากรายงานการสืบสวนและพยานหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฎอยู่ในสำนวนการสอบสวนและฝ่ายจำเลยได้ตรวจสอบและขอคัดถ่ายในชั้นตรวจพยานหลักฐานของศาลดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษที่จะลดโทษให้ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) ฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น คงจำคุก 8 เดือน ฐานร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพ หรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป หรือเพื่ออำพรางคดี คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ฐานเป็นซ่องโจรเพื่อกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน และฐานร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่และการกระทำความผิดนั้นเป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังถึงแก่ความตาย คงจำคุกตลอดชีวิต แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) สำหรับจำเลยที่ 1,2, 4-6 เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้ประหารชีวิตจำเลยที่ จำเลยที่ 1,2, 4-6 สถานเดียว ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 ในข้อหาฐานร่วมกันซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพ หรือส่วนของศพ เพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตายและร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพ หรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป หรือเพื่ออำพรางคดี และข้อหาเป็นซ่องโจร ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 636/2563 ของศาลอาญากรุงเทพใต้และในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 3889/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 3890/2561 ของศาลอาญาพระโขนงนั้น เมื่อคดีนี้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 จึงไม่มีโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ที่จะนับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 636/2563 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ สำหรับคดีหมายเลขแดงที่ อ3889/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ3890/2561 ของศาลอาญาพระโขนงนั้นยังไม่มีคำพิพากษา ให้ยกคำขอในส่วนนี้และริบของกลาง

ทั้งนี้ นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า การทำความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในคดีนี้นั้น เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 ที่บัญญัติไว้ว่า ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย โดย (1) นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆ ของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ โดยความเห็นแย้งดังกล่าวจะถูกแนบไปพร้อมกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเพื่อประกอบการพิจารณา หากมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลสูงต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น