xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์” ติดภารกิจ มอบปลัด ยธ.รับหนังสือม็อบ ย้ำไม่มีอำนาจสั่งจับ-ปล่อยตัวแกนนำ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รมว.ยธ.แจงเป็นหน้าที่ศาล-ตำรวจ ควบคุมตัวแกนนำม็อบระหว่างดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมาย ส่วนกระทรวงฯ เพียงปลายน้ำ ดูแลผู้ต้องขังทุกคนตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลเท่านั้น มอบปลัดกระทรวงรับหนังสือจากเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีที่มาทวงถาม

วันนี้ (31 ต.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี เตรียมมายื่นหนังสือถึงบ้านเพื่อถามถึงการจับกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุม ว่าต้องขออภัยที่ตนไม่อยู่บ้าน เพราะติดภารกิจงานของกระทรวงยุติธรรม แต่ได้มอบหมายให้นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัด ยธ. และ ว่าที่ร.ต.ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยธ.รับหนังสือแทน ซึ่งตนพอจะได้ทราบประเด็นในข้อสงสัยและได้เตรียมคำอธิบายเอาแล้ว คือ การจับตัวหรือการปล่อยตัวแกนนำอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งเดิมศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานเดียวกับกระทรวงยุติธรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 สำนักงานศาลยุติธรรมได้แยกออกเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การพิจารณาคดีต่างๆ รวมถึงการพิจารณาคดีอาญาย่อมอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาล กระทรวงยุติธรรมจะมีบทบาทดำเนินการบังคับตามคำพิพากษาของศาล โดยขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา การออกหมายจับ เป็นกรณีที่ตำรวจจะต้องไปขออำนาจศาลดำเนินการทั้งสิ้น เมื่อผู้ถูกจับอยู่ในการควบคุมของตำรวจแล้ว ตำรวจจะนำตัวมาส่งศาลในเขตอำนาจ

นายสมศักดิ์กล่าวว่า การสั่งให้ควบคุมตัวระหว่างดำเนินคดีอยู่ในอำนาจของศาลเช่นกัน โดยบุคคลเหล่านี้จะอยู่ในการควบคุมดูแลของเรือนจำหากไม่ได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้ การจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลเหล่านี้หรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาลในการพิจารณา และคำสั่ง รมว.ยุติธรรม ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ ในการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลเหล่านั้นได้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลจะมีหมายปล่อยไปยังเรือนจำที่ควบคุมตัวบุคคลเหล่านี้ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หากบุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวทางกรมราชทัณฑ์มีมาตรการควบคุมตัวในระหว่างการสอบสวนดำเนินคดีเป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม กรณีหากพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายบุคคลเหล่านี้ย่อมใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาตรวจสอบถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สามารถให้ทนายความดำเนินการดังกล่าวแทนได้

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า การถูกจับกุมของแกนนำสืบเนื่องจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ แล้วแต่กรณี การดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. และ พ.ร.ก.ดังกล่าวอยู่ในอำนาจของตำรวจ ในเขตพื้นที่ที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุมดำเนินคดีตามคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งมีโทษทางอาญา

“ผมในฐานะเป็นกระทรวงปลายน้ำ กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด คือ การดูแลผู้ต้องขังไม่ให้ถูกทำร้ายภายในเรือนจำ ซึ่งผมได้เข้าตรวจสอบด้วยตัวเอง ให้ดูแลผู้ต้องขังทุกคนตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ยึดมั่นในความถูกต้อง ยืนยันว่าเราปฏิบัติตามหลักของสากล จนถูกอีกฝ่ายโจมตีด้วยซ้ำ ผมยืนยันว่าเราปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะฝ่ายไหนหรือคดีอะไร ผมทำหน้าที่ตามหลักความยุติธรรม” นายสมศักดิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น