MGR Online - กรมป่าไม้แจ้งเอาผิดบริษัท เหมืองทองอัคราฯ บุกรุกป่า-ทางสาธารณะ ใน จ.พิจิตร-เพชรบูรณ์ รวม 73 ไร่ ตำรวจ ปทส.เตรียมเสนอ บช.ก.ตั้งคณะทำงานสอบสวน
วันนี้ (15 ต.ค.) ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เมื่อเวลา 14.00 น. พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ผบก.ปทส.พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ สุขสมบูรณ์ รอง ผบก.ปทส., พ.ต.อ.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ รอง ผบก.ปทส., นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ และ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ที่ปรึกษาหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆไพร) และ พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปทส. ร่วมแถลงการขยายผลตรวจสอบเหมืองทองบริษัท อัครา รีซอร์สเซส เกี่ยวกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ใน จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ พบการบุกรุกพื้นที่ครอบครองการทำประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และทำลายสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน รวมทั้งหมด 15 แปลง เนื้อที่กว่า 73 ไร่
พล.ต.ต.พิทักษ์ กล่าวว่า คดีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เคยรวบรวมพยานหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีบริษัท อัครารีซอร์สเซส และผู้เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ทางหลวง พร้อมส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบการอนุญาตให้บริษัท อัคราไมนิ่ง เปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนซึ่งมีการชี้มูลไปแล้วเมื่อปี 2559 แต่ 15 คดีใหม่ในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับคดีเดิม ฉะนั้น บก.ปทส.จะเสนอกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ตั้งคณะทำงานสอบสวนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งการดำเนินคดีเป็นไปตามพยานหลักฐานที่กรมป่าไม้ได้รวบรวมหลักฐานซึ่งพิสูจน์ความผิดจริง เนื่องจากมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนและมาแจ้งความไว้ก่อนแล้ว หลังจากนี้ ก็ต้องดูว่าเหมืองแร่จะมีข้อโต้แย้งใดอีกบ้าง ซึ่งตำรวจก็พร้อมให้มาชี้แจง ยืนยันไม่มีผลกับการพิจารณาคดีตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับรัฐบาลไทย
ด้าน นายอดิศร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบประกอบการรวบรวมพยานหลักฐานได้พบการกระทำผิดเกี่ยวกับที่ดินของบริษัท รวมพื้นที่ 15 แปลงใน 3 จังหวัด แบ่งเป็นการแปลงประทานบัตรใน อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร บุกรุกผืนป่ารวม 35 ไร่, แปลงประทานบัตรใน อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ 16 ไร่, บ่อกักโลหกรรมที่ 1 พื้นที่บ้านวังทรายพูนใน บุกรุกป่า 4 ไร่ บ่อกักโลหกรรมที่ 2 พื้นที่เดียวกัน บุกรุกป่า 3 ไร่ เป็นการกระทำผิด 3 ประการ คือ 1. ทำลายถนน, ทางสาธารณะที่ไม่ได้ขอใช้ประโยชน์กับกรมป่าไม้ 2. ทำเหมืองแร่ออกนอกพื้นที่ได้รับอนุญาต 3. นำพื้นที่ที่อนุญาตใช้ประโยชน์ไปออกเอกสารสิทธิ์ จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับ บก.ปทส.
“ขอยืนยันว่า นี่ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง หรือเป็นการนำไปต่อสู้คดีความที่มีการฟ้องร้องกันระหว่างบริษัทแม่กับรัฐบาลไทย” นายอดิศร กล่าว
ส่วน นายชีวะภาพ กล่าวว่า ให้ย้อนไปดูคำสั่ง คสช.เมื่อปี 2559 ซึ่งระบุให้เหมืองหยุดกิจการเพื่อปรับปรุงข้อผิดพลาดจากเรื่องสิ่งแวดล้อม สาธารณสุขและชีวอนามัย ไม่ใช่สั่งปิดกิจการ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2560 ได้ประสานการปฏิบัติภารกิจหลายหน่วย พบการขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้โดยไม่ถูกต้อง ประกอบกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ยืนยัน