xs
xsm
sm
md
lg

“ไสลเกษ” ปธ.ศาลฎีกา ปลื้มผลงานในรอบปี-ดำเนินคดีม็อบ นศ.อย่างประนีประนอม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา
“ไสลเกษ” ประธานศาลฎีกา แถลงผลงานก่อนหมดวาระปลื้มผลงานช่วยลดช่องว่างทางสังคม และให้ความเป็นธรรมกับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ห่วงใยนักศึกษาชุมนุมประท้วง ศาลพร้อมใช้กฎหมายอย่างประนีประนอม

เมื่อเวลา 13.45 น. วันนี้ (29 ก.ย.) นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา แถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายของประธานศาลฎีกาตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา ก่อนเกษียณหมดวาระ ภายใต้ชื่องาน “ความยุติธรรม ไม่มีวันหยุด” พร้อมถ่ายทอดผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพไปยังศาลยุติธรรมทั่วประเทศ

นายไสลเกษ ได้แถลงผลการดำเนินงานตามนโยบาย 5 ด้าน ดังนี้ 1. ยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย โดยคำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรม และความสงบสุขของสังคม ได้แก่ การพัฒนาระบบการปล่อยชั่วคราว โดยการให้มีการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันหยุด การออกคำแนะนำในเรื่องการขยายโอกาสในการปล่อยชั่วคราว การพัฒนาแบบคำร้องใบเดียวที่ไม่ต้องเสนอหลักประกันมาพร้อมกับคำร้อง การออกคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางในการปล่อยชั่วคราวในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนการส่งเสริมการใช้มาตรการทางเลือก เพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น เช่น การรอการกำหนดโทษ และการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ

มีการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันหยุดมากถึง 10,346 เรื่อง แบ่งเป็นคำร้องที่ศาลมีคำสั่งอนุญาต 8,312 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 80.3 ของคำร้องที่ประชาชนยื่นในวันหยุดราชการ นอกจากนี้ ศาลอนุญาตให้จำเลยทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับฯ จำนวน 10,482 คน คิดเป็นวันทำงาน 243,219 วัน เป็นการทำงานแทนค่าปรับ 121,609,500 บาท ซึ่งจำเลยไม่มีความสามารถทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะจ่ายค่าปรับได้ จึงส่งผลให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นอย่างเป็นรูปธรรม

2. ยกระดับมาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อให้ความยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์ มุ่งเน้นการพัฒนาแบบประเมินตนเองฉบับศาลยุติธรรมไทย ตามแนวคิดของกรอบสากลเพื่อความเป็นเลิศทางการศาล (International Framework for Court Excellence) ของสมาคมระหว่างประเทศเพื่อความเป็นเลิศทางการศาล โดยทำการศึกษาแบบประเมินดังกล่าว และนำมาทดลองใช้ในศาลต้นแบบ ได้แก่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลภาษีอากรกลาง และศาลจังหวัดสมุทรปราการ จนกระทั่งมีการจัดทำ “แบบประเมินตนเองฉบับศาลยุติธรรม” (Self-Assessment: Court of Justice’s Thailand Version) ซึ่งมีการกำหนดรูปแบบและเนื้อหาการประเมินให้เหมาะสมกับบริบทของศาลยุติธรรมไทย เพื่อให้ศาลทั่วประเทศเริ่มใช้ในปีงบประมาณถัดไป โดยแต่ละศาลจะต้องประเมินตนเองปีละ 2 ครั้ง เพื่อวางแผนการพัฒนาและบริหารของศาลตนในอนาคต โดยมุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศทางการศาลในระดับสากลต่อไป

3. นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรม การพิจารณาพิพากษาคดี และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคำนึงถึงช่องทางอื่นที่สะดวกและประหยัดสำหรับประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ได้แก่ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการช่วยสนับสนุนการพิจารณาคดีของศาล ทั้งในเรื่องการยื่น ส่ง และรับคำคู่ความ การติดต่อกับประชาชน การให้ความรู้แก่ประชาชน และแจ้งสิทธิต่าง ๆ ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกคุมขังทราบ

ทั้งนี้ ประธานศาลฎีกาได้ออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาในคดีอาญาที่ศาลฎีกา โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ พ.ศ.2563 และออกข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรมให้มากขึ้น

โดยมีสถิติการยื่นฟ้องคดีออนไลน์ ผ่านระบบ e-filing ของศาลยุติธรรมมากถึง 198,661 คดี ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยอัตราการฟ้องคดีผ่านระบบออนไลน์ดังกล่าวสูงมากถึง ร้อยละ 250 ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์การการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกเดือน

4. เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารงานบุคคลด้วยการสร้างสมดุลระหว่างจริยธรรมและระบบอาวุโส และความรู้ความสามารถ เน้นย้ำให้บุคลากรศาลยุติธรรมทุกคนตระหนักถึงการทำหน้าที่ในฐานะผู้ให้บริการแก่ประชาชน และมีการดูแลบุคลากรให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างระบบการตรวจสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้พิพากษาทุก 5 ปี

ในส่วนของการพัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะของบุคลากร นอกเหนือจากหลักสูตรประจำของสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งจัดขึ้นกว่า 50 หลักสูตร โดยมีบุคลากรที่เข้ารับการอบรม 6,382 คน ทั่วประเทศ ในปีงบประมาณที่ผ่านมาแล้ว มีการใช้วิธีการจัดฝึกอบรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยหัวข้อวิชาที่หลากหลายในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อส่งเสริมความรู้ในสหวิชาการของบุคลากรให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

5. สนับสนุนบทบาทของศาลในการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม และที่ไม่ก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนและสังคม มีการกำหนดแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการศาลยุติธรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ “Green Court ศาลยุติธรรมยุคใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยจัดทำทะเบียนต้นไม้ในเขตพื้นที่ศาลทั่วประเทศ จำนวน 9,664 ต้น และปลูกป่าหรือต้นไม้เพิ่มเติมในเขตพื้นที่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ จำนวน 5,106 ต้น รวมเป็นจำนวนทั้งหมด 14,770 ต้น ซึ่งจะมีแผนการดูแลรักษาต้นไม้และปลูกป่าเพิ่มเติมต่อไป นอกจากนี้ ยังได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานฯ เพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีสิ่งแวดล้อมและร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งแนวทางในการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

อีกทั้งมีการออกระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อกำหนดแนวทางในการพิจารณากฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งเตรียมการให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทภายใต้ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการช่วยแก้ปัญหากฎหมายมากเกินความจำเป็นของประเทศต่อไป

นายไสลเกษ กล่าวช่วงท้ายด้วยความห่วงใยถึงอนาคตของศาล โดยเตือนศาลอย่าประมาท หลายคำถามที่มาสู่ศาลเราจะทำอะไรได้บ้าง ศาลต้องได้รับการตรวจสอบ เราต้องมีจุดเกาะเกี่ยวกับผู้แทนของประชาชน เพื่อลดข้อครหาศาลตรวจสอบไม่ได้ รวมถึงระบบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ควรถ่วงดุลกันระหว่างตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งและที่มาโดยตำแหน่ง และควรมีวาระที่แน่นอนชัดเจน ผู้พิพากษาควรมีการเปลี่ยนถ่ายเลือดโดยธรรมชาติ ถึงวาระต้องพัก ให้ท่านอื่นเข้ามา ลดการสร้างบารมีต่อเนื่อง ผู้พิพากษาทุกคนมีความรู้ความสามารถแทนกันได้ คลื่นลูกใหม่ไล่ลูกหลัง คือคลื่นพัฒนา เราไม่พ้นการตรวจสอบข้างนอก ต้องตรวจสอบปรับปรุงตัวเราเองก่อน

ประธานศาลฎีกา ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า เราหนีไม่พ้นโซเชียลมีเดีย ต้องสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ถึงเวลาบรรจุเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีจริยธรรม ในประมวลจริยธรรมผู้พิพากษา ให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง ให้เกียรติกัน เคารพผู้อาวุโส สร้างสรรค์ ไม่ทำลาย ไม่ให้ร้ายกัน ตนพูดจากความรู้สึกอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา เราเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย เป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนราชการที่ให้บริการประชาชน อย่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ตลอดเวลา อยู่บนบัลลังก์บังคับใช้กฎหมาย ลงจากบัลลังก์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐให้บริการประชาชน อย่าเป็นผู้พิพากษา 24 ชั่วโมง จะลดช่องว่างกับประชาชนได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากประสบการณ์ที่ท่านเคยเป็นนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ และผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมาก่อน
อยากจะบอกอะไรกับน้องๆ นักศึกษาที่ออกมาประท้วงในช่วงนี้

นายไสลเกษ กล่าวว่า ผมมองว่า ก็ไม่ได้แตกต่างจากนักศึกษาในยุคนี้หรอก เพียงแต่บริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไป
ช่วงที่เป็นนักศึกษาก็รู้สึกว่าอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ สิ่งที่ท้าทายเราต้องการเรียนรู้ หลายเรื่องที่เราไม่เคยเข้าใจ สมัยผมเข้าเรียนม.ธรรมศาสตร์ ช่วงหลังเปลี่ยนแปลง 14 ต.ค. 2516 นั้น นักศึกษามีความคิดทางสังคมเยอะ สมัยผมอ่านตำราทุกอย่าง
ทั้งมาร์คซิสต์ เลนิน เยอะแยะไปหมดเลย

ซึ่งเราต้องการเรียนรู้ว่าจริงๆ มันคืออะไร เพราะเราไม่รู้ไง ในที่สุดประสบการณ์ก็จะสอนเราเรื่อยๆ ว่า อันไหนใช่
อันไหนไม่ใช่ ประสบการณ์การล่มสลายของประเทศคอมมิวนิสต์และประเทศจีน ที่ภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรม
เช่น เด็กรังเกียจผู้ใหญ่ มองว่า พ่อแม่หรือผู้บุพการีล้าหลัง ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงสังคมแล้วก็ปฏิบัติกับผู้บุพการี หรือผู้ใหญ่ในแบบหนึ่งก็เรียนรู้ ในที่สุดการปฏิวัติวัฒนธรรมเกิดขึ้น ผู้หลักผู้ใหญ่กลุ่มอนุรักษ์นิยมถูกขัดขวางออกจากสังคม และแล้ววันเวลาก็พิสูจน์ว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีนล้มเหลว เขาทำลายทรัพยากรผู้ใหญ่ทำลายทรัพยากรของบ้านเมือง ไม่มีการเชื่อมต่อเปลี่ยนถ่ายอย่างสันติแล้วต่อมากลุ่มคนที่ปฏิวัติวัฒนธรรมก็ถูกปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งไม่มีที่ยืนในสังคม คิดว่า ถ้าจะมาเทียบกับสังคมในขณะนี้ เราต้องสอนเราต้องให้โอกาสเยาวชนของเราให้เขาได้เรียนรู้ได้เข้าใจสิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าความก้าวร้าว ความรุนแรง ความไม่ให้เกียรติกันนี้แหละจะเป็นอันตรายต่อสังคม ทำอย่างไรจะทำให้การเปลี่ยนถ่ายจากรุ่นสู่รุ่น เป็นไปด้วยสันติวิธี ทุกคนมีความสุขรับได้ คนรุ่นเก่าต้องยอมรับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ก็ต้องยอมเราคนรุ่นเก่า สิ่งนี้คือสิ่งที่ยาก ตอนนี้ผมไม่มั่นใจว่าสถานการณ์สังคมไทย จุดนี้เกิดขึ้นหรือเปล่า

เมื่อถามว่า ถ้าแกนนำนักศึกษาเหล่านั้นต้องถูกดำเนินคดีขึ้นศาล จะใช้กฎหมายดำเนินการอย่างไร

นายไสลเกษ กล่าวว่า ศาลต้องใช้กฎหมายเป็นหลัก แต่ตัวกฎหมายเองก็มีความยืดหยุ่นที่ศาลสามารถจะใช้ดุลพินิจได้ ผมว่ายุคนี้ศาลจะต้องสร้างความเข้าใจ ปัจจุบันศาลได้ผลักดันให้เกิดการประณีประนอมการเจรจาไกล่เกลี่ยมากขึ้น คิดว่าวิธีพิจารณาของศาลก็เปิดช่องเช่นนี้ เป็นไปได้ไหมที่จะให้คนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ที่มีข้อพิพาทกันได้สร้างความเข้าใจกันให้มากขึ้น ลองนั่งคุยกันอย่างมีสติ แต่ต้องหาคนกลางในการที่จะทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้คุยกัน

เมื่อถามว่า มองว่าในสถานการณ์ทางการเมืองนี้ ม.ธรรมศาสตร์ ควรจะมีบทบาทอย่างไร

นายไสลเกษ กล่าวว่า ผมสงสารผู้บริหาร ม.ธรรมศาสตร์ ผมว่าท่านก็พยายามสร้างความเข้าใจ แต่เนื่องจากประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แล้วด้วยความเชื่ออย่างนี้ หลายคนก็คิดว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงให้รวดเร็วก็ไปตั้งต้นที่ ม.ธรรมศาสตร์ แต่มันอาจจะไม่ใช่อย่างที่คิดก็ได้ และ ม.ธรรมศาสตร์ ก็พยายามรอมชอมลดความรุนแรง แต่เนื่องจากวิธีคิดมันอาจจะไม่เจอกันเสียทีเดียว วันเวลาอีกสักระยะหนึ่ง ผมเชื่อว่าน้องๆ ก็จะเข้าใจผู้ใหญ่ว่าไม่ได้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น แต่ห่วงใยเด็กๆ เสียด้วยซ้ำ ซึ่งตนเห็นใจผู้บริหาร ม.ธรรมศาสตร์ มุมหนึ่งก็อยากให้น้องๆ ได้เดินไปข้างหน้า ได้แสดงความเห็น แต่ก็ต้องให้เกิดความพอดี
กำลังโหลดความคิดเห็น