(Police Focus)
ด้วยสภาพการจราจรติดขัดของกรุงเทพฯในโซนชั้นใน ได้จัดตั้ง “ชุดเคลื่อนที่เร็ว” ของตำรวจจราจรตามโครงการพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาเสมือน “รถนำขบวน” เคลียร์ทางช่วยเหลือนำคนเจ็บ คนป่วย หญิงใกล้คลอด และอวัยยวะส่งโรงพยาบาล บางครั้งต้องลงมือทำคลอดหญิงบนถนนเอง แม้จะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของตำรวจก็ตาม อีกทั้งมี “ภารกิจพิชิตหัวใจ” เรียกว่าเป็นผู้กุมชีวิตของใครบางคนที่นอนรอต่อลมหายใจอย่างมีหวัง
เจาะลึกเรื่องราวแม่ทัพอัศวินสีน้ำเงิน ร.ต.อ.พิเชษฐ วิเศษโชค รอง สว.งานปฏิบัติการจราจรตามโครงการพระราชดำริ 1 กก.6 (ปฏิบัติการพิเศษการจราจร) บก.จร.บช.น.ผู้ที่ผ่านการช่วยทำคลอดหญิงและนำส่งหัวใจมานับไม่ถ้วน จนถูกขนานนามในวงการว่า “หมอคน” การทำงานแข่งกับเวลาซึ่งเป็นปัจจัยหลักและท้าทายที่ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้คนเจ็บ คนป่วย หญิงใกล้คลอดใช้เวลาอยู่บนถนนให้น้อยที่สุด เช่นเดียวกับอวัยวะโดยเฉพาะหัวใจต้องถึงมือแพทย์ให้เร็วที่สุด
ร.ต.อ.พิเชษฐ กล่าวว่า ตำรวจโครงการแบ่งออกเป็น 3 หน้างาน ประกอบด้วย หมอคน หมอรถ และ หมอถนน โดยแบ่งงานตามความถนัดของแต่ละคน ส่วนตนรับผิดชอบหมอคนได้รับมอบหมาย เป็นหัวหน้าชุดเคลื่อนที่เร็ว หรือ “ทัพอัศวินสีน้ำเงิน”ขณะนี้มีขุนพลทั้งหมด 10 นาย มีอำนาจในการจับกุมแต่ไม่มีหน้าที่ เพราะไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเรื่อง พ.ร.บ.จราจรทางบก แปลว่าไม่ได้ถือ ใบสั่ง นั้นเอง ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือการช่วยเหลือและการบริการประชาชน
หลายคนมักนึกถึงตนในเรื่องการช่วยทำคลอด จนบางทีเพื่อนแซวว่า “หมอเชษฐ” แต่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะไม่ใช่ผู้ที่มีวิชาชีพในการช่วยทำคลอด เราช่วยเฉพาะกรณีหญิงคลอดบุตรออกมาแล้วเท่านั้น ถ้ายังไม่คลอดต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลก่อน ขณะที่การขนส่งอวัยวะนั้นหัวใจมีความสำคัญมากที่สุด หลังผ่าออกจากผู้บริจาคแล้วเหล่าคาราวานมีเวลา 4 ชั่วโมง ลำเลียงโดยเครื่องบินจากต่างจังหวัดถึงมือแพทย์ในกรุงเทพฯ เพื่อใส่ให้ผู้ป่วยที่รอรับบริจาคอีกที
ในส่วนของตำรวจจะมีเวลาแค่ครึ่งชั่วโมงรอรับหัวใจที่สนามบินดอนเมือง หรือสนามบินสุวรรณภูมิ ควบรถจักรยานยนต์นำหน้ารถพยาบาลที่บรรทุกกล่องหัวใจ ถ้าได้รับการประสานจาก สภากาชาดไทย ส่วนใหญ่ไปส่งโรงพยาบาลในกรุงเทพฯชั้นใน อาทิ ศิริราช ราชวิถี รามาธิบดี และ จุฬาลงกรณ์ โดยประสานกับศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) และ สน.ท้องที่ต่างๆ เพื่อขอสัญญาณไฟอำนวยความสะดวกการจราจรให้ถึงปลายทางโดยเร็ว
“ผมทำคลอดฉุกเฉินมาแล้ว 40 ราย จากทั้งหมด 186 ราย จะว่าไปเราเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่สิ่งที่ตำรวจโครงการฯทำอยู่ก็ไม่ได้นอกเหนือหน้าที่ ขณะนั้นเขาไม่ได้โชคดีว่ารถคันข้างหน้าเป็นหมอ รถคันข้างหลังเป็นพยาบาล ดันเป็นตำรวจที่อยู่ตามป้อมตามแยกต่างๆ ถามว่าวินาทีตรงนั้นเราอยู่บนถนน แล้วมีคนเจ็บคนป่วย หากไม่ช่วยเหลืออาจจะเกิดอันตรายแก่ร่างกาย หรือแก่ชีวิตกับเขาเลยก็ว่าได้ ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเสร็จนำส่งโรงพยาบาล”
แม่ทัพอัศวินสีน้ำเงินวัย 49 ปี เล่าต่อว่า สำหรับตนการเป็นตำรวจโครงการฯเหตุการณ์ประทับใจมีทุกวัน ก็คือ การทำงานในทุกๆ วัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังช่วยทำคลอดฉุกเฉินที่แยกโรงกรองน้ำส่ง รพ.พระมงกุฎเกล้า ญาติของแม่เด็กเข้าโผกอดตำรวจแทนคำขอบคุณ ทำเอาเราหายเหนื่อยและรู้สึกดีใจมาก บางรายจำได้ว่าเคยช่วยทำคลอดเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2552 จนเด็กคนนั้นเรียนอยู่ชั้น ป.6 ยังติดต่อกับทางครอบครัวเขาถึงปัจจุบัน
หรือบางรายมีโอกาสได้พบเจอกันบางครั้งมีกิจกรรมก็เชิญเขามาร่วมงาน เพราะได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจโครงการ ตนมองว่ามันเป็นมากกว่าการช่วยเหลือ ไม่ใช่ว่าเราช่วยเหลือแล้วจบไปแต่ยังมีความสัมพันธ์กัน ขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองฝ่ายจะสานกันอย่างไรต่อไป อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาหากเราเป็นหมอทำคลอด แต่ในเมื่อเราเป็นตำรวจจึงรู้สึกได้ว่า เหมือนเราเป็นคนสำคัญในช่วงเวลาหนึ่งของครอบครัวเขา
สำหรับประวัติตนเป็นชาว จ.สุราษฎร์ธานี เริ่มอาชีพตำรวจจากการจบ ร.ร.พลตำรวจนครบาล รุ่นที่ 68ก็มาลง กก.อารักขา แล้วย้ายเข้า กก.6 บก.จร.ตั้งแต่ปี 2541-2555 จากนั้นสอบได้สัญญาบัตร ร.ต.ต.เป็น รอง สวป.สภ.เมืองชัยภูมิ รอง สว.สส.สภ.กระบุรี จ.ระนอง รอง สวป.สน.พหลโยธิน พอปี 2559 ขอช่วยราชการ กก.6 บก.จร.กระทั่งปัจจุบันย้ายขาดเป็น รอง สว.งานปฏิบัติการจราจรตามโครงการพระราชดำริ 1 กก.6 บก.จร.
“อาจจะไม่เหมือนตำรวจคนอื่นไปแล้วไปเลยไม่อยากกลับมา ผมขอย้ายจาก สน.พหลโยธิน เข้ามาตำรวจโครงการฯเนื่องจากเคยอยู่มาก่อน เคยช่วยเหลือประชาชน อยู่แล้วรู้สึกสบายใจ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นตำรวจโครงการฯ ไม่จำเป็นต้องไปจับโจรผู้ร้าย แค่ได้นำคนเจ็บ คนป่วย หญิงใกล้คลอด และอวัยวะส่งโรงพยาบาล หรือช่วยทำคลอดฉุกเฉิน ถือว่าได้บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน เพราะคือหน้าที่หลักของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”