xs
xsm
sm
md
lg

บช.น.ยก 3 ระดับจัดการจราจร ไม่หวั่นม็อบใช้ยุทธวิธี “ดาวกระจาย”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - น.6 เผยแผนจัดระบบการจราจร วางกำลังเกือบ 9,000 นาย คุมเข้มชุมนุมธรรมศาสตร์ 19 ก.ย. กำหนดเส้นทางม็อบเคลื่อนขบวนไปทำเนียบ ย้ำ ต้องแจ้งตำรวจทราบก่อน แกนนำยังไม่ขอใช้สนามหลวง

วันนี้ (18 ก.ย.) เวลา 11.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.(รับผิดชอบด้านจราจร) ในฐานะรองโฆษก บช.น. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการจราจร กรณีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ ว่า ประการที่ 1 คือ การจัดระบบการจราจรกรณีที่มีการชุมนุมประท้วง โดยจะไม่มีการปิดการจราจรทั้งหมด ประการที่ 2 คือ การจัดระบบการจราจรนั้นแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับที่ 1 กรณีที่มีการชุมนุมบริเวณสถานที่ไม่กระทบผิวการจราจร หมายความว่า ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ภายใน ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หรือ สนามหลวง การจัดการจราจรก็จะเป็นปกติ ไม่มีการปิดการจราจรแต่อย่างใด

ระดับที่ 2 กรณีที่มีการลงมาที่ผิวการจราจร หรือเคลื่อนที่กระทบผิวการจราจรบางส่วน ก็จะจัดการจราจรโดยการจัดระเบียบของผู้ที่มาชุมนุม โดยขอความร่วมมือเพื่อให้ชิดขอบทางด้านซ้ายมากที่สุด ในช่องทางที่เหลือเราก็ใช้เป็นการจราจรตามปกติ และระดับที่ 3 กรณีที่การจราจรที่สามารถสัญจรได้ จะมีการขออนุมัติผู้บัญชาการเหตุการณ์ด้านฝ่ายความมั่นคง เพื่อปิดการจราจรและหลีกเลี่ยงเส้นทาง และให้ผู้สัญจรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ถ้ากระทบผิวการจราจรและต้องปิดการจราจรจะมี 2 แนวทาง ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง แล้วกระทบทางแยกใดก็จะทำการปิดการจราจรชั่วคราว เพื่อไม่ให้ผู้สัญจรเข้าไปในเส้นทางนั้นแล้วไม่สามารถไปได้ ได้รับผลกระทบจากการจราจร ฉะนั้น จึงปิดการจราจรชั่วคราวก่อนที่ผู้ชุมนุมจะเดินทางมาถึงทางแยก ให้สามารถเลือกการเดินทางอื่นได้

ฉะนั้น เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนที่ผ่านไปจะเปิดการจราจรตามปกติ และแนวทางที่ 2 กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วการจราจรไม่สามารถสัญจรไปได้ อาจจะจำเป็นต้องปิดการจราจรถาวร ตรงนี้จะใช้หลักการเข้าหากับกลุ่มผู้ชุมนุมว่าอยู่จุดใด จะปิดการจราจรก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางถึงทางแยก เพื่อให้ผู้สัญจรมีเส้นทางหลีกเลี่ยงได้ เป็นแนวทางที่ตำรวจเตรียมความพร้อมไว้ ไม่ว่าจะจุดใดก็ตามเตรียมความพร้อมไว้ทุกจุด

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวต่อว่า ตำรวจนอกจากดูแลรักษาความปลอดภัยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือ เรื่องความปลอดภัยในชีวิตของกลุ่มผู้ชุมนุม จึงได้กำหนดเส้นทางฉุกเฉินทางด้านการแพทย์ โดยขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ชุมนุม หรือประชาชนทั่วไปว่าตำรวจจราจร จะดำรงเส้นทางไว้สำหรับกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ใช้เวลาจากจุดเกิดเหตุไปโรงพยาบาลโดยใช้เวลาน้อยที่สุด กรณีมีการชุมนุมบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หรือสนามหลวง เส้นทางที่กำหนดไว้ คือ ถนนพระอาทิตย์ ไปโรงพยาบาลกลาง ในส่วนทางด้านทิศใต้เส้นทางที่กำหนดไว้ คือ ถนนสนามไชย ไปโรงพยาบาลกลาง

กรณีมีการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีประชาธิปไตย เส้นทางที่กำหนดไว้ คือ ถนนดินสอ ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ เข้ามาทางโรงเรียนสตรีวิทยา หรือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปโรงพยาบาลกลาง กรณีมีการชุมนุมบริเวณแยก จ.ป.ร.เส้นทางที่กำหนดไว้ คือ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ และถนนจักรพรรดิพงษ์ ไปโรงพยาบาลกลาง กรณีมีการชุมนุมบริเวณแยกมัฆวานรังสรรค์ เส้นทางที่กำหนด คือ ถนนกรุงเกษม และถนนลูกหลวง ไปโรงพยาบาลกลาง

สำหรับสถานที่จอดรถของสื่อมวลชนได้กำหนดไว้บริเวณถนนราชินี ข้างโรงละครแห่งชาติทั้งสองฝั่ง (โรงละครแห่งชาติ-สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า) สามารถรองรับรถบัสได้ถึง 30 คัน กรณีในวันที่ 20 ก.ย. กลุ่มผู้ชุมนุมอาจจะเคลื่อนที่ไปยังทำเนียบรัฐบาล เส้นทางที่อาจจะได้รับผลกระทบมี 9 เส้นทาง และ 2 สะพาน ประกอบด้วย ถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถนนตะนาว ถนนดินสอ ถนนจักรพรรดิพงษ์ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ถนนหลานหลวง สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และสะพานพระราม 8 เป็น 11 จุดที่ควรหลีกเลี่ยง

ในส่วนของเส้นทางแนะนำจะเป็นการเดินทางจากฝั่งพระนครไปฝั่งธนฯ และฝั่งธนฯ ไปฝั่งพระนคร ประกอบด้วย สะพานกรุงธน (ซังฮี้) สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานพระปกเกล้า สะพานตากสิน ในส่วนของตนมีหน้าที่บริหารการจราจรและประสานฝ่ายความมั่นคงที่ บช.น.โดย พล.ต.ต.คมศักดิ์ สุมังเกษตร ผบก.จร.บริหารจัดการจราจรรอบบริเวณพื้นที่การชุมนุม ประจำการที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) และ พ.ต.อ.มนต์ชัย ศรีประเสริฐ รอง ผบก.น.1 ลงบริหารเหตุการณ์ในพื้นที่ชุมนุม

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวต่อว่า กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนที่มายังทำเนียบรัฐบาล ตำรวจได้เตรียมไว้ 2 เส้นทางสำหรับผู้ชุมนุม คือ ถนนราชดำเนินใน และ ถนนราชดำเนินกลาง จนมาถึงแยกผ่านฟ้า แยกออกเป็น 2 เส้นทาง คือ ถนนราชดำเนินนอก ผ่านแยก จ.ป.ร.แยกมัฆวานรังสรรค์ หรือ ถนนนครสวรรค์ ผ่านสนามม้านางเลิ้ง แยกสะพานเทวกรรมรังรักษ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานไปยังผู้นำชุมนุม ให้ทราบถึงเส้นทางที่ตำรวจได้กำหนดไว้ ทั้งการเดินทางทำเนียบรัฐบาลและเส้นทางฉุกเฉินทางการแพทย์

ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมใช้ยุทธวิธีเคลื่อนที่แบบดาวกระจายนั้น ขณะนี้ตำรวจเตรียมความพร้อมเรื่องการจัดระบบการจราจร 3 ระดับ การเตรียมความพร้อมด้านการจัดการจราจรทั่วทุกพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ภายในรวมถึงภายนอกด้วย นอกจากนี้ ผบก.จร.ได้เสริมกำลังตำรวจจราจรด้วย ถึงแม้ใช้ยุทธวิธีดาวกระจายจึดไหนถ้าเข้าหลักการว่า แค่กระทบบางส่วนตำรวจก็อนุญาตให้ไป แต่หากเต็มพื้นที่ก็จะพิจารณาปิดการจราจร ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางมาถึงทางแยก

เส้นทางที่เป็นห่วงมากที่สุด คือ ถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินการนอก ถือว่าเป็นเส้นทางหลักที่ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศว่าจะใช้เส้นทางดังกล่าว ในการเคลื่อนที่ไปยังทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ คือเส้นทางที่เชื่อมต่อกับถนนราชดำเนินทั้ง 3 แห่ง มีทั้งหมด 9 เส้นทางและ 2 สะพาน อาจจะได้รับผลกระทบ ถ้าไม่จำเป็นผู้สัญจรก็ควรหลีกเลี่ยง

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงเรื่องโควิด-19 แล้วประสานไปยังผู้นำชุมนุมนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร.ได้ประชุมวานนี้ (17 ก.ย.) จุดคัดกรองก็จะมีในส่วนโควิด-19 ในส่วน ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีจุดคัดกรองทั้งหมด 4 แห่ง หากมีการชุมนุมในพื้นที่อื่นก็จะมีการปรับจุดคัดกรอง

นอกจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก ที่จะนำใช้ควบคุมการชุมนุมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำความผิด อาทิ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ร.บ.รักษาความสะอาด รวมทั้งการกระทำความผิดเรื่องประมวลกฎหมายอาญา และโทรคมนาคม หากเข้าองค์ประกอบใดพนักงานสอบสวนก็จะดำเนินการ เบื้องต้นทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุม ได้ขออนุญาตขอให้พื้นที่ชุมนุมกับ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในส่วนของสนามหลวงยังไม่ได้มีการขออนุญาต

การจะเคลื่อนขบวนจาก ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังทำเนียบรัฐบาลต้องแจ้งทางตำรวจ และการเคลื่อนขบวนในลักษณะของการกีดขวางการจราจรต้องได้รับอนุญาตก่อน ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งจากผู้นำชุมนุม รอง ผบช.น.กล่าว

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวด้วยว่า ได้เตรียมกำลังตำรวจไว้ทั้งหมด 57 กองร้อย หรือประมาณ 8,550 นาย ทั้งหมด 14 จุด เริ่มตั้งแต่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปจนถึงทำเนียบรัฐบาล โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 6 ผลัด ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ย.) ถึงเวลา 14.00 น. ของวันที่ 20 ก.ย. มีจุดที่วางกำลังเป็นพิเศษ 4 กองร้อย 1 จุด คือ พระบรมมหาราชวัง และอีก 3 กองร้อย 4 จุด คือ ม.ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แยก จ.ป.ร.และสะพานมัฆวานรังสรรค์.
กำลังโหลดความคิดเห็น