MGR Online - “รมว.ยุติธรรม” เปิดสัมมนา“รวมพลังฝ่าวิกฤตหนี้นอกระบบ” ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ พบปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ปล่อยกู้ยืมเงิน และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
วันนี้ (31 ส.ค.) โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ ถ.แจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ประชาชนด้านกฎหมายและการเข้าถึงความเป็นธรรม หัวข้อ “รวมพลังฝ่าวิกฤตหนี้นอกระบบ”
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบ มีแนวทางการแก้ไขตามความเร่งด่วน 4 แนวทาง คือ 1. การเฝ้าระวังและปราบปรามเจ้าหนี้ที่เรียกดอกเบี้ยเอารัดเอาเปรียบในการทำสัญญาเพื่อหวังยึดที่ดินทรัพย์สินของชาวบ้าน การปล่อยกู้รายวันที่เรียกว่า “ดอกลอย” หรือกู้รายวันโดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อ 24 วัน 2. การช่วยเหลือลูกหนี้ด้านการอำนวยความยุติธรรมให้กับลูกหนี้ ในชั้นก่อนฟ้อง ชั้นฟ้องคดีในศาล และในชั้นการบังคับคดี 3. การสนับสนุนการช่วยเหลือด้านแหล่งทุนให้กับประชาชน ซึ่งมีสถาบันการเงินของรัฐเป็นหลัก และ 4. การพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ให้หลุดพ้นจากวงจรหนี้ ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ รวมทั้งการเยียวยาลูกหนี้ให้อยู่ได้ไม่เป็นภาระของสังคม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นภารกิจที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรมโดยตรง เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือเกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งความผิดอาญา การทำสัญญากู้ที่เอารัดเอาเปรียบ หรือการอำพรางเพื่อเรียกดอกเบี้ย การที่ลูกหนี้ถูกทวงหนี้จากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี หรือถูกบังคับคดี ไร้ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่ จึงเป็นหน้าที่ของยุติธรรมจังหวัดที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือในเบื้องต้น รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียน การตรวจสอบข้อมูล การช่วยเหลือตามกฎหมายกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือทางด้านคดีความ ค่าธรรมเนียมศาล การประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือในด้านอื่นๆ
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรมบังคับคดีต้องเข้าดูแลลูกหนี้ในชั้นบังคับคดี และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องสืบสวนเจ้าหนี้ที่เป็นขบวนการ หรือการปล่อยกู้ในรูปแบบใหม่ๆ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องเข้าช่วยเหลือให้คำปรึกษา รับเรื่อง เป็นทั้งหน่วยงานหลักของกระทรวง และเป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานในพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ การให้ความรู้ด้านกฎหมายกับประชาชน เป็นนโยบายสำคัญที่มอบให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการ ทั้งสำนักงานกิจการยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยุติธรรมจังหวัด ยุติธรรมชุมชน ต้องร่วมผลักดันให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน
ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จากการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการให้กู้ยืมเงิน และการทวงถามหนี้ ด้วยวิธีการข่มขู่ ประจาน ทำร้ายร่างกาย จนทำให้ลูกหนี้บางรายถูกกดดันจนฆ่าตัวตาย หนี้นอกระบบจึงเป็นสาเหตุให้เกิดอาชญากรรมที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมีการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืนใน 3 ประเด็น คือ การเตรียมพร้อมรับมือกับอาชญากรรม และการปล่อยเงินกู้รูปแบบใหม่ๆ การป้องกันการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้นอกระบบและประเมินผลการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก เยาวชน ผ่านสื่อการเรียนรู้ The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด ซึ่งทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และดีเอสไอร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อ เป็นเครื่องมือสำคัญในเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายเพื่อป้องกันหนี้นอกระบบ