“ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2563 ตอน เรือดำน้ำ มาผิดเวลา โหมไฟไล่รัฐบาลประยุทธ์
ประเด็นใหญ่ กำลังเป็นปัญหาใหม่พุ่งกระแทกใส่รัฐบาลและกองทัพ และส่อว่าจะเพิ่มอุณหภูมิความไม่พอใจบานปลายออกไปอีก หากรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ตัดสินใจผิดพลาด ก็คือ เรื่องที่คณะอนุกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ อนุมัติให้กองทัพเรือ จัดซื้อเรือดำน้ำของจีนจำนวน2 ลำ มูลค่า22,500 ล้านบาท
ซึ่งเหตุผล การทุ่มงบซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ ชี้แจงแล้วฟังไม่ขึ้น จึงตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วย และเป็นกระแสการคัดค้านจากสังคมอย่างกว้างขวาง เรื่องนี้เชื่อขนมกินได้ว่า คงจะเป็นประเด็นใหม่ให้กลุ่มประท้วงรัฐบาลเอาไปขยายความบนเวทีแน่
ย้อนไปลำดับเหตุการณ์ ก่อนที่จะอนุมัติงบก้อนใหญ่22,500 ล้านบาทนี้ อนุกรรมาธิการฯครุภัณฑ์ ลงคะแนนเสมอกัน4-4 เสียง เมื่อเสียงสนับสนุนและไม่เอาด้วยที่จะให้ใช้งบประมาณปี พ. ศ. 2564 ซื้อเรือดำน้ำ เสมอกัน
นายสุพล ฟองงาม ประธานอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ของสภาผู้แทนราษฎร ต้องออกชี้ขาด ปรากฏว่าสุพลชูมือให้งบก้อนนี้ผ่าน
และได้ให้เหตุผลในเวลาต่อมาว่า “การมีเรือดำน้ำก็เพื่อให้ประเทศอื่นเกรงใจ หมายความว่า มีไว้เพื่อไม่ต้องรบ หากไม่มีก็อาจจะต้องรบ เพราะคนอื่นไม่เกรงใจ “ สุพล ฟองงาม ส. ส. พรรคพลังประชารัฐ บอกถึงความจำเป็นที่ต้องมีเรือดำน้ำ ซึ่งคนฟังแล้วขำไม่ออก ร่ำไห้ไม่ได้
เพราะค่าเกรงใจที่ว่า ต้องซื้อเรือดำน้ำสองลำนี้ มาโชว์แสนยานุภาพทัพเรือ ที่จะให้ประเทศอื่นเกรงกลัว มันใช่เหรอ มันแพงเสียเหลือเกิน คำชี้แจงนี้เป็นตลกร้ายพอๆกับที่มีรัฐมนตรีคนหนึ่งบอกมาเมื่อปีก่อนว่า เรือดำน้ำได้มา ก็เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยว ครั้งนั้นก็ฮากันมาทีแล้ว คราวนี้ก็ยังมาอีหรอบเดียวกัน
เหตุผลความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำในกองทัพเรือ ราชนาวีไทย ดูเหมือนจะเป็นประเด็นถกเถียงกันมาตลอด สรุปว่าฝ่ายที่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีเรือดำน้ำในทัพเรือยุคนี้ มีเหตุผลที่ทีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่า
ยิ่งในสภาวะบ้านเมือง กำลังเดือดร้อนกับเรื่องเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหามาจากการระบาดของโควิด -19 เศรษฐกิจตกต่ำที่จะโงหัวขึ้นมาเมื่อไหร่ ไม่มีใครไม่รู้ มิหนำซ้ำยังจ่อว่าจะมีการระบาดรอบสองด้วย
ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นเรื่องที่สำคัญอันดับแรก รัฐบาลต้องเปิดยุทธศาสตร์ทำสงครามกับความยากจน เพราะเศรษฐกิจจะตกต่ำถอยรูดรุนแรง เงินทองเป็นของหายาก คนตกงานหลายล้านคน ประชาชนตกอยู่ในสภาพอดยาก ปากแห้ง
วันนี้ที่ว่าแย่แล้ว อนาคตจะหนักกว่ามาก รัฐบาลต้องทำสงครามต่อสู้ทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลกลับจะรีดเอาเงินภาษีประชาชนไปซื้อเรือดำน้ำ เพื่อมาตั้งไว้ให้ประเทศอื่นเกรงใจ มันไม่น่าถูกทาง แถมเป็นความไม่เหมาะสม อย่างน่าสงสัยมาก
การที่ต้องซื้อเรือดำน้ำ อาจจะเพราะเกรงใจจีนที่ได้ตกปากรับคำกัน แต่ถ้าเห็นว่ายังไม่สมควรซื้อในยามนี้ ก็สามารถไปจะคุยกับจีนได้ โดยขอเลื่อนไปก่อน ซึ่งจีนที่เห็นไทยเป็นภูมิรัฐศาสตร์ในการแผ่ขยายความยิ่งใหญ่ของจีนยุค สี จิ้นผิงก็คงจะเข้าใจ
เพราะภาวะแย่ๆแบบนี้ รัฐบาลมีภาระต้องทุ่มเงินใช้เยียวยาประชาชนในประเทศ แล้วใครจะมีอารมณ์เอาเงินสองหมื่นกว่าบาท ไปซื้อเรือดำน้ำ จีนก็คงจะพูดได้ไม่ยาก คงหยวนๆให้ได้
แต่น่าเสียดายที่ทางรัฐบาล และกองทัพเรือ ไม่ยอมเลือกใช้วิธีผ่อนสั่นผ่อนยาวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ กลับตะบี้ตะบันจะเดินหน้าผลาญงบประมาณอย่างเดียว จนมีเสียงนินทาว่า คงเพราะมีของหยังว่า เป็นตัวผลักดันอยู่เบื้องหลัง จึงไม่ยอมล้มโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำสองลำ
ความจริง ตลอด5 ปีในยุคคสช. กุมอำนาจ กองทัพได้มีโครงการจัดซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์ไปแล้วจำนวนมาก นั่นเท่ากับใช้ภาษีประชาชนไปแล้วกับการเสริมเขี้ยวเล็บกองทัพไปไม่ใช่น้อยๆ
ใน5 ปี ‘รัฐบาล คสช.’ ใช้งบช็อปอาวุธไปกว่า 4 หมื่นล้าน มีอะไรบ้าง ลองย้อนดู ซึ่งส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนจากค่ายสหรัฐฯหรือยุโรป มาเป็นเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน ทั้งโครงการจัดซื้อรถถัง วีที – 4 จำนวน 49 คัน วงเงิน 9,000 ล้านบาท ตามที่ กองทัพบกเสนอจัดซื้อด้วยงบประมาณผูกพัน 3 ระยะ
นอกจากนี้ ปี 2560 ทบ.ยังจัดซื้อรถเกราะล้อยางรุ่น วีเอ็น – 1 จำนวน 34 คัน วงเงินงบประมาณ 2,300 ล้านบาท ต่อมาประมาณกลาง ปี2561 ครม.ได้อนุมัติการจัดซื้อรถถัง VT-4 ระยะที่ 2 จำนวน 14 คัน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท และ อนุมัติการจัดซื้อ VN-1 ระยะที่ 2 จำนน 34 คัน วงเงิน 2,000 ล้านบาท
ส่วนกองทัพเรือกับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น หยวน คราส เอส 26 ที จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท ที่รวมถึงโรงซ่อมบำรุง การฝึกอบรม เป็นต้น โดยตั้งงบผูกพัน 7 ปี และกองทัพเรือมีความต้องการอีก 2 ลำ เพื่อให้ครบตามยุทธศาสตร์การรบทางทะเล
ขณะที่กองทัพอากาศ จัดซื้อเครื่องบินฝึกขับไล่ไอพ่นรุ่น ที – 50 ทีเอช จากเกาหลีใต้ ระยะที่สอง จำนวน 8 ลำ เกือบ 9,000 ล้านบาท หลังจากที่ระยะแรกจัดซื้อ 4 ลำ 3,750 ล้านบาท
และเตรียมจัดซื้อเครื่องบินฝึกขับไล่ ตามโครงการระยะที่ 3 อีก 4 ลำ ตามวงเงินงบประมาณ 3,750 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของกองทัพอากาศที่จะจัดซื้อให้ครบ 16 ลำ หรือ 1 ฝูงบิน
ล่าสุด กลางเดือนเมษายน62 รัฐบาล คสช. ทำหน้าที่รักษาการได้อนุมัติการจัดซื้อ VT-4 รถถังจีนระยะที่ 3 จำนวน 14 คัน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท และกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อนุมัติจัดซื้อ VN-1 ระยะที่ 3 จำนวน 39 คัน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท
รวมทั้งจัดซื้อรถเกราะล้อยาง M-1126 Stryker (สไตรเกอร์) จำนวน 37 คัน จำนวน 3,000 ล้านบาท
โครงการจัดซื้ออาวุธ และยุทโธปกรณ์ บางโครงการมีการแขวนและเลิกไปก็มี แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าตลอดเวลาในยุคคสช. มีการซื้ออาวุธไปประมาณ 4 หมื่นล้านบาทแล้ว
ถ้าเป็นเวลาปกติ การซื้อเรือดำน้ำเพิ่มอีกสองลำ กระแสคัดค้านจากประชาชน คงไม่แรงเท่าไหร่ แต่ในสถานการณ์ที่ศัตรูในสงครามต้องต่อสู้กับเชื้อโรคและความยากจน หากรัฐบาลฝืนดันทุรังจะเอาให้ คงจะฝ่ากระแสคัดค้านไปได้ยาก