xs
xsm
sm
md
lg

“สธ.- ตร.” ระดมความคิดแก้ปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - กระทรวงสาธารณสุข ร่วม ตำรวจ-โรงพยาบาล หารือทางออกแก้ปัญหาความรุนแรงสถานพยาบาล ต้องมีมาตรการดูแลความปลอดภัยทั้งบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่เข้ารับบริการ

วันนี้ (30 ก.ค.) ที่ห้องประชุมแพทยสภา ชั้น 14 อาคารสภาวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เป็นประธานในการเสวนา “แนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล” โดยมี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, พล.ต.ต.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ รอง ผบช.ภ.1 (ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ), นพ.ณรงค์ ธาดาเดช ผอ.รพ.อุดรธานี, พล.อ.ท.นพ.ชูพันธ์ ชาญสมร ผอ.รพ.วิภารามชัยปราการ, นพ.พิพัฒน์ พงศ์รัตนาราม ผอ.รพ.เมืองสมุทรปู่เจ้า, นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน, นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด, นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา และ นายเมทนี บุรณศิริ ผู้แทนภาคประชาชน เข้าร่วมเสวนา

ในที่ประชุมได้พูดถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดความรุนแรงในโรงพยาบาล มีสาเหตุหลักๆ คือ หลังจากคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายได้รับบาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาลเดียวกัน ซึ่งต่างฝ่ายมารอคนเจ็บแล้วเกิดทะเลาะวิวาทกันอีกครั้ง, กรณีนำส่งแยกโรงพยาบาลกันแต่เกิดจากอีกฝ่ายรู้ข้อมูลแล้วยกพวกไปทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง และ กรณีเพื่อนผู้บาดเจ็บหรือญาติผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์อันเนื่องจากไม่พอใจการรักษา เกิดการโต้เถียงทะเลาะวิวาทจนอาจนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกาย

พล.ต.ต.ธนายุตม์ กล่าวว่า ส่วนสาเหตุสภาพปัญหานำไปสู่ความรุนแรงนั้น พบว่า กู้ภัยหรือพลเมืองดีนำส่งผู้บาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่ายโรงพยาบาลเดียวกัน ทำให้ญาติหรือพรรคพวกคู่กรณีมาเยี่ยมพวกตัวเองพบกันอีกครั้งและยังโกรธแค้นกันอยู่จึงมีโอกาสกระทบกระทั่งกัน ก่อเหตุทะเลาะวิวาท, กรณีนำส่งแยกโรงพยาบาล ญาติหรือพรรคพวกผู้บาดเจ็บโกรธแค้นแทนผู้บาดเจ็บ จึงรวมสมัครพรรคพวกไปทำร้ายอีกฝ่ายที่โรงพยาบาล หลังทราบข้อมูลว่าอีกฝ่ายรักษาพยาบาลที่ใด, คนป่วยหรือญาติผู้ป่วยหรือพรรคพวกผู้ป่วย มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บจากบุคลากรทางการแพทย์ และ ไม่พอใจในการบริการของบุคลากรทางการแพทย์ เช่นเข้าใจว่าแพทย์ พยาบาลและผู้เกี่ยวข้อง รักษาพยาบาลช้า หรือ รักษาไม่ได้มาตรฐานทั่วไปจนทำให้ผู้บาดเจ็บพิการ หรือ เสียชีวิต หรือ ไม่พอใจในกิริยาของบุคลากรทางการแพทย์ จึงทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์

พล.ต.ต.ธนายุตม์ กล่าวอีกว่า ในวงเสวนา ได้มีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1. เมื่อมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาทต้องแยกส่งคนละโรงพยาบาล 2. เจ้าหน้าที่ตำรวจหรืออาสาสมัคร ต้องติดตามผู้ป่วยไปโรงพยาบาลและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทกันในโรงพยาบาล 3. กรณีน่าจะมีเหตุรุนแรงให้ รปภ. หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง วางมาตรการรักษาความปลอดภัยตามทันที เช่น ให้มีการเข้าออกทางเดียว, มีการตรวจอาวุธ ตรวจคัดกรองญาติโดยละเอียด (ห้ามพกอาวุธ), ขอกำลังเสริม เป็นต้น 4. การนำหลักของ service mind (บริการด้วยใจ) มาใช้ กับญาติผู้ป่วย หรือ ผู้ป่วย เพื่อลดสถานการณ์ความตึงเครียดและจะก่อความรุนแรงในโรงพยาบาล 5. ประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลให้ติดตั้งสัญญาณเตือนภัยในห้องฉุกเฉิน เมื่อมีเหตุกดกริ่งแล้วไปดังที่ห้องวิทยุของสถานีตำรวจทันที

พล.ต.ต.ธนายุตม์ กล่าวต่อว่า 6. ให้มีการจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและซักซ้อมแผนร่วมกันทุกฝ่าย ทั้ง ตำรวจ อาสาสมัคร และบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะประชาชนที่มารับบริการได้เตรียมความพร้อมในการรับมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและต้องได้รับความปลอดภัย 7. ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมให้ครบทุกมุมในโรงพยาบาล เมื่อเกิดเหตุแล้วจะได้มีการตรวจสอบติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้ 8. ติดตั้งจุดตรวจ ตู้แดง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจที่โรงพยาบาลให้มีความถี่เพิ่มขึ้นเพื่อความปลอดภัย และ 9. การอบรมให้ความรู้ในข้อกฎหมาย การป้องกันตัวจากเหตุการณ์ความรุนแรงและการช่วยเหลือประชาชนที่มารับบริการ เพื่อให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์มีการป้องกันตัวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงยุติลงแล้ว การรักษาสถานที่เกิดเหตุมีความจำเป็นและสำคัญมาก ห้ามทุกคนเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุหรือจับต้องสิ่งของ หรือเคลื่อนย้ายสิ่งของเป็นอันขาด เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ จะเข้าพื้นที่เกิดเหตุเพื่อเก็บพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย” รอง ผบช.ภ.1 กล่าวทิ้งท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น