xs
xsm
sm
md
lg

“ยุติธรรม” จับมือ “แรงงาน” พัฒนาอาชีพผู้ต้องขังต่อยอดทำงานต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - กระทรวงยุติธรรม ลงนามร่วม กระทรวงแรงงาน ส่งเสริมอาชีพพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง มีอาชีพสร้างรายได้สู่ตลาดแรงงานทั้งในและนอกประเทศ คืนคนดีสู่สร้างสังคมลดกระทำผิดซ้ำ

วันนี้ (20 ก.ค.) เวลา 09.30 น. ณ ห้องรับรองกระทรวงยุติธรรม ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อส่งเสริมการมีงานทำของผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยทั้งระบบ ระหว่าง กระทรวงยุติธรรม และ กระทรวงแรงงาน ให้สามารถอยู่ในสังคมได้เมื่อพ้นโทษแล้ว ประกอบด้วย ผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นพลเมืองดี มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มพูนสร้างรายได้ของตนเองและครอบครัวได้ ตลอดจนส่งเสริมการมีงานทำทั้งในและต่างประเทศ สามารถอยู่ในสังคมอย่างปกติ และเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่จะสร้างขีดความสามารถของประเทศ โดยมี นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ และมี นายวิทยา สุริยะวงค์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน และ นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมลงนามเป็นพยาน

หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะทำหน้าที่ในการแนะนำอาชีพ จัดหาตำแหน่งงาน จัดฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ และให้การรับรองแก่สถานประกอบการในการรับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ซึ่งมองตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศที่พร้อมรับแรงงานฝีมือด้านต่างๆ ที่ผ่านการอบรม นอกจากนี้ ทั้ง 2 กระทรวงได้มีความร่วมมือในการ พัฒนาฝีมือแรงงานให้กับผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยทั้งระบบมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มีผู้ผ่านการอบรม 8,084 คน รับการพิจารณารับเข้าทำงานร้อยละ 80 ส่วนในปี 2563 มีเป้าหมายในการอบรม 1,840 คน เน้นการฝึกอาชีพในกลุ่มอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานฝีมือทั่วไป เช่น งานก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างไฟ เป็นต้น ซึ่งเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ที่ให้โอกาสแก้ผู้ที่เคยกระทำผิด สามารถมีอาชีพมีรายได้ และได้รับโอกาสในการกลับคืนสู่สังคมอีกครั้งหลังพ้นโทษ

ด้าน นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ซึ่งมีความต้องการแรงงานฝีมือ สิ่งสำคัญคือ ต้องเพิ่มทักษะด้านภาษาให้กับแรงงานที่ต้องการจะไปทำงานในต่างประเทศทั้งภาษาอังกฤษหรือภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับแรงงานไทย เบื้องต้นมีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 20,000-30,000 ราย แต่คงไม่สามารถฝึกทักษะอาชีพกับกระทรวงแรงงานได้ทั้งหมด จึงได้ให้แนวทางกับกรมราชทัณฑ์ ดึงศักยภาพของผู้ต้องขังที่มีหลากหลายมาช่วยในการฝึกอบรมทักษะที่มีความชำนาญ โดยใช้หลักสูตรของกระทรวงแรงงาน เช่น การดึงผู้ต้องขังชาวต่างชาติที่มีอยู่ในเรือนจำประมาณ 2,000 คน มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เป็นต้น

“คาดหวังว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมและให้โอกาสแก่ผู้ที่อยู่ในระบบพัฒนาพฤตินิสัย ทั้งผู้ต้องขัง ผู้ถูกคุมประพฤติเด็ก และเยาวชนที่อยู่ระหว่างกระบวนการบำบัด ซึ่งมีจำนวนกว่า 500,000 คน ได้มีโอกาสกลับคืนสู่สังคมในการกลับเข้ามาใช้ชีวิตอย่างปกติในสังคมอีกครั้ง และลดการกระทำผิดซ้ำ” รมว.ยธ. กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น