xs
xsm
sm
md
lg

“ปธ.ศาลฎีกา” แนะนำลดวงเงินประกันช่วงโควิด-19 ส่วนคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เดือน มิ.ย.ลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา
“ปธ.ศาลฎีกา” แนะนำศาลทั่วประเทศ ลดวงเงินประกันช่วงโควิด-19 ช่วยประชาชนที่เดือดร้อน-รายได้น้อย ด้านโฆษกศาลยุติธรรม เผย คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เดือน มิ.ย.ลดลง ย้ำต้องไม่ประมาท

วันนี้ (1 ก.ค. ) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ และทำให้ประชาชนต้องว่างงานขาดรายได้

นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เห็นว่า การพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา หรือจำเลย ควรคำนึงถึงผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้ลงนามออกประกาศ “คำแนะนำประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พ.ศ. 2563” ซึ่งหลักสำคัญของการแนะนำ มีดังนี้

1. ดุลพินิจการพิจารณาอนุญาตปล่อยชั่วคราว (การให้ประกันตัว) ยังคงเป็นดุลพินิจของ
ผู้พิพากษา
2. คดีลหุโทษ (ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ) คดีที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือคดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ศาลอาจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันด้วยการให้สาบานตัว หรือปฏิญาณตนตามที่กฎหมายกำหนด
3. คดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 10 ปี ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้แต่ต้องมีประกัน
ซึ่งการเรียกประกันจะทำได้เมื่อเป็นกรณีจำต้องเรียกหลักประกัน และจะต้องระบุถึงความจำเป็นในการเรียกหลักประกันไว้ในคำสั่งโดยชัดเจน
4. ส่งเสริมให้มีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ หรือเงื่อนไขอื่นใดประกอบการอนุญาต
ให้ปล่อยชั่วคราว, ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือกำไลข้อเท้า ในการตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทาง หรือแต่งตั้งผู้กำกับดูแลแทนการเรียกหลักประกัน
5. ปรับปรุงวงเงินประกันหรือหลักประกันกรณีศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน หรือหลักประกัน (หลักทรัพย์) โดยลดวงเงินลงกึ่งหนึ่งจากวงเงินที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวหาหรือจำเลยในคดีศาลอาญา พ.ศ. 2548
6. กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ หรือเป็นผู้ไม่มีที่อยู่ถาวรในประเทศไทย ถือเป็นพฤติการณ์พิเศษในคดีที่อาจใช้วงเงินที่สูงกว่าได้

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ข้อมูลสถิติคดีความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รวบรวมสถิติคดี พบว่า สถิติคดีสะสมตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีจำนวนคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง ทั้งหมด 5,640 คดี พิพากษาแล้วเสร็จ 5,389 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.55 และจำเลยจำนวน 10,292 คน ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากที่สุด จำนวน 9,851 คน และประชาชนชาว กทม.ฝ่าฝืน พ.ร.ก.มากสุด จำนวน 965 คน

ส่วนเยาวชนถูกจับ ทั้งสิ้น 198 คดี จำนวน 226 คน ข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุมสูงสุด คือ ฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 215 คน

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ภายหลังที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 หรือ ศบค. มีการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 ประกอบกับยกเลิกเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 14 มิ.ย. เป็นต้นมา หากนำสถิติเดือนพ.ค.และ เดือน มิ.ย.มาเปรียบเทียบกัน พบว่า สถิติคดีในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวงในเดือน มิ.ย.มีปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณาลดลง จำนวน 9,087 คดี

แม้ปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 5 แล้ว แต่ขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด สวมหน้ากากอนามัย ก่อนออกจากบ้านทุกครั้งและเว้นระยะห่างจากผู้อื่น (Social Distancing ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19


กำลังโหลดความคิดเห็น