xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญาทุจริตฯเตรียมเบิกตัว “บรรยิน” ตรวจหลักฐานคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา โดยพิจารณาคดีลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลอาญาทุจริตฯ เตรียมเบิกตัว “บรรยิน” ตรวจหลักฐานคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา โดยพิจารณาคดีลับเฉพาะคู่ความ เพื่อความสงบเรียบร้อย

วันนี้ (20 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 มิ.ย. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำ อท. 69/2563 อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาอดีตเจ้าของสำนวนโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์ เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 63 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อายุ 56 ปี อดีต รมช.พาณิชย์, นายมานัส ทับทิม อายุ 67 ปี, นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์ อายุ 48 ปี, นายชาติชาย เมณฑ์กูล อายุ 31 ปี, นายประชาวิทย์ หรือ ตูน ศรีทองสุข อายุ 33 ปี, ด.ต.ธงชัย หรือ ส.จ.อ๊อด วจีสัจจะ อายุ 63 ปี ทั้งหมดภูมิลำเนา จ.นครสวรรค์ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิด 9 ข้อหา ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 289, ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ เป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไปถึงแก่ความตาย มาตรา 309, 313, ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มาตรา 310, ฐานร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป มาตรา 139, 140, ฐานเป็นซ่องโจร โดยสมคบกันเพื่อกระทำผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต มาตรา 210, ฐานร่วมกันพยายามข่มขืนใจผู้อื่น ให้กระทำการใดโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มาตรา 213, ฐานร่วมกันซ่อนเร้น ทำลายศพเพื่อปิดบังการตายและสาเหตุการตาย มาตรา 199, ฐานร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นเพื่ออำพรางคดี ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 150 ทวิ, ฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน มาตรา 145 ประกอบ ป.อ.มาตรา 33, 80, 83, 91, 92 และยังยื่นฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 1 ข้อหาที่ 10 ฐานสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน เพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิและแต่งเครื่องแบบตำรวจโดยไม่มีสิทธิเพื่อกระทำผิดอาญา มาตรา 146

อัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 3 ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 6 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจำเลยที่ 2-6 ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สำหรับ นายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 3 แถลงให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยทนายความจำเลยที่ 3 ขอยื่นคำให้การในวันนัดตรวจหลักฐาน

โดยมีรายงานว่า จำเลยที่ 1 พ.ต.ท.บรรยิน ขณะนี้ถูกแยกไปขังยังเรือนจำกลางบางขวาง เนื่องจากมีการวางเเผนแหกคุกและจับตัวประกัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ในวันนัดสอบคำให้การผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ศาลได้มีคำสั่งเพื่อความสะดวกในการตรวจพยานหลักฐานและการพิจารณาคดี มอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีแนะนำคู่ความและช่วยควบคุมให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย หากพบว่ามีข้อบกพร่อง หรือข้อขัดข้องเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาหรือการได้มาของพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างอิงก็ให้รายงานต่อศาลพร้อมด้วยแนวทางแก้ไขโดยเร็ว โดยให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยาน, คำแถลงเกี่ยวกับประเด็นและความจำเป็นต้องสืบพยานรวมทั้งวิธีการให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานนั้นต่อเจ้าพนักงานคดีภายใน 30 วัน นับตั้งเเต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยศาลยังมีคำสั่งว่าเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลและคู่ความในวันนัดตรวจพยานหลักฐานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และเพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่อยู่ในบริเวณศาล จึงเห็นสมควรให้พิจารณาเป็นการลับ โดยให้โจทก์, พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 1 และทนายความจำเลยที่ 1-2 มาศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพื่อตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกับเจ้าพนักงานคดีในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. และให้นัดตรวจสอบพยานหลักฐานโดยศาล (แถลงรายละเอียดที่ได้สรุปบัญชีพยาน 2 ฝ่ายต่อหน้าศาล) ในวันเดียวกัน (22 มิ.ย.) เวลา 13.30 น. โดยห้ามไม่ให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ความเข้าอยู่ในห้องพิจารณา ยกเว้นบุคคลที่กฎหมายกำหนดเข้าอยู่ในห้องพิจารณา

และให้โจทก์, จำเลยที่ 2-6 พร้อมด้วยทนายความมาศาลเพื่อดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกับเจ้าพนักงานคดีในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. และให้นัดตรวจสอบพยานหลักฐานโดยศาล (แถลงบัญชีพยาน 2 ฝ่ายต่อหน้าศาล) ในวันเดียวกัน (25 มิ.ย.) เวลา 13.30 น.โดยห้ามไม่ให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ความเข้าอยู่ในห้องพิจารณา และหากคู่ความไม่มาในวันนัดตรวจหลักฐานดังกล่าว หรือไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลดังกล่าว ศาลจะพิจารณาตรวจพยานหลักฐานไปตามรูปคดีที่ปรากฏในสำนวนและตามรายงานของเจ้าพนักงานคดี

ด้านนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวว่า ขณะนี้ยังมีคดีสำคัญที่ พ.ต.ท.บรรยินตกเป็นจำเลยยังมีอยู่2คดีคือคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯเเละคดีฆาตรกรรม นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของศาลอาญาพระโขนง ในการดำเนินการเรื่องเเผนรักษาความปลอดภัยจะเเบ่งเป็น 2ส่วนคือส่วนเเรกเจ้าพนักงานตำรวจศาล เเละส่วนที่ 2 คือการประสานกับทางสำนักงานตำรวจเเห่งชาติเพื่อขอส่งกำลังเจ้าหน้าที่มาดูเเลความปลอดภัยป้องกันเหตุร้ายหรือชิงตัวจำเลย เราดำเนินการไปทั้งหมด ส่วนเรื่องต้องใช้กำลังเเค่ไหนเเละเฝ้าระวังจุดไหนบ้างนั้นตรงนี้อยู่ในเเผนรักษาความปลอดภัยที่จะต้องเป็นความลับเพื่อไม่ให้ผู้ประสงค์ที่จะก่อเหตุทราบถึงยุทธวิธี เเต่เรามีการประเมิณสถานการณ์อยู่ตลอด ซึ่งทราบว่าทางสำนักงานตำรวจเเห่งชาติมีการส่งเจ้าหน้าที่มาหลายหน่วยทั้งจาก บชน.เเละกองปราบรวมถึงหน่วยพิเศษอื่น ซึ่งถือว่าเป็นเเผนการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด เเละจะมาดูเเลทุกนัดที่ พ.ต.ท.บรรยินมาขึ้นศาล

เมื่อถามว่าในทางข่าวกรองมีการรายงานเบาะเเสบ้างหรือไม่

นายสราวุธกล่าวว่า เราจะได้รับรายงานข่าวกรองอยู่ตลอดเวลา การเตรียมความพร้อมของสำนักงานศาลมีทั้งการประสานทั้งหน่วยงานข้างนอกรวมถึงการวางกำลังรักษาความปลอดภัยของเราเอง

เมื่อถามว่าที่ปรากฎเป็นข่าว พ.ต.ท.บรรยินมีการวางเเผนเเหกคุก โดยจะใช้วิธีจับตัวประกันต่อรอง ซึ่งเป็นพฤติการณ์รุนเเรงเเบบเดียวกับที่เคยจับตัวพี่ชายผู้พิพากษาตรงนี้มีความกังวลถึงความไม่ปลอดภัยของผู้พิพากษาหรือไม่
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่าการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางเเละอิสระ ฉนั้นการดูเเลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาเป็นหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรมที่จะต้องดูเเลให้เกิดความปลอดภัย ทางสำนักงานศาลพร้อมดำเนินการให้หากมีการร้องขอเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุ้มครองดูเเลผู้พิพากษาเราพร้อมดำเนินการทุกอย่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น