xs
xsm
sm
md
lg

เสียหายเพราะออกหมายจับผิดตัว : ฟ้องศาลไหน !?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ช่วงนี้...ข่าวคราวที่ทุกคนต่างเฝ้าติดตามก็คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19

ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ที่แม้พื้นที่ข่าวอื่น ๆ จะลดน้อยลงไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาลดลงไป เช่น ปัญหายาเสพติดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังคงต้องเฝ้าติดตามและปราบปรามอยู่ตลอด ซึ่งก็แพร่ระบาดในหมู่เยาวชน และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของยาเสพติดเพื่อให้มีฤทธิ์ร้ายแรงขึ้นและยากต่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ อันถือเป็นอันตรายต่อสังคม นอกจากนี้ ยังมีคดีต่าง ๆ อีกมากมาย และในภาวะที่เศรษฐกิจ
ซบเซา ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการลัก วิ่ง ชิง ปล้น อีกด้วย ด้วยเหตุนี้...เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
จึงต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม

อย่างไรก็ตาม...ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บางครั้งก็อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ เพราะหลายครั้งที่คนร้ายอาจปิดบังใบหน้า หรือเห็นหน้าไม่ชัดเจน ทำให้ผู้เสียหายไม่อาจจำหน้าได้ หรือบางกรณีก็อาจมีใบหน้าละม้ายคล้ายคลึงกับบุคคลอื่น

เช่นคดีที่จะคุยกันนี้... นายเจี๊ยบซึ่งเป็นผู้เคราะห์ร้ายที่มีใบหน้าคล้ายคลึงกับคนร้าย จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไปตามหมายศาล แต่ปรากฏว่า นายเจี๊ยบไม่ใช่ผู้ต้องหาตามหมายจับนั้น ! เพราะตำรวจได้ขอออกหมายจับผิดตัว ! ทำให้นายเจี๊ยบเสียหาย จึงได้ยื่นคำขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจชดใช้ค่าเสียหายแก่ตน อันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาแล้วปฏิเสธการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว

นายเจี๊ยบจึงมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายหลายรายการ เช่น ค่าใช้จ่ายในการปรึกษาทนายความ ค่าเช่าหลักประกันตัวเป็นหลักประกันเงินสด ค่าใช้จ่าย
ในการเดินทาง ค่าที่พักและอื่น ๆ ของผู้ฟ้องคดีและภรรยาในระหว่างถูกจับกุมและไปรายงานตัวระหว่าง
ฝากขังต่อศาล ค่าว่างงานระหว่างถูกจับกุมและฝากขัง รวมเวลา 89 วัน ค่าเยียวยาจากการถูกกระทำ
ด้วยความเจ็บปวด บั่นทอนทางจิตใจ และค่าชดเชยเยียวยาการเสียอิสรภาพ ฯลฯ

กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า ศาลปกครองสามารถรับคำฟ้องของนายเจี๊ยบไว้พิจารณาพิพากษาได้หรือไม่ ?

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อนายเจี๊ยบ

แม้จะได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ แต่หน้าที่ดังกล่าวเป็นขั้นตอนการใช้อำนาจจับกุมของพนักงานสอบสวน ซึ่งไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง หากแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่

ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษ

กรณีจึงไม่ใช่การกระทำละเมิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ส่วนการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งปฏิเสธคำขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว หากนายเจี๊ยบไม่พอใจคำสั่งนั้น ก็ชอบที่จะฟ้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ (มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ประกอบกับมาตรา 106 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542)

กล่าวโดยสรุปได้ว่า...การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ต้องเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือใช้อำนาจตามกฎหมายปกครอง ซึ่งไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือใช้อำนาจดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งหรือทางอาญา เช่น ในคดีนี้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจจับกุมผู้ร้ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นอกจากนี้การปฏิบัติหน้าที่ทั่วไป ที่ไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เช่น การขับรถของพนักงานขับรถราชการ หรือการรักษาคนไข้ของแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ ที่หากกระทำละเมิดก็จะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมเช่นกันค่ะ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คผ. 83/2560)

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่น ๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)
กำลังโหลดความคิดเห็น