xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ส.ย้ำ “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ต้องส่งเข้าบำบัดรักษา” ถือไม่ผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “เลขาธิการ ป.ป.ส.” แจงเฉพาะผู้เสพต้องรีบส่งตัวฟื้นฟูอย่างถูกวิธี เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ และไม่มีประวัติทำผิดติดตัว หากเกี่ยวข้องจำหน่าย หรือขับแล้วเสพ จะไม่เข้าเงื่อนไข

วันนี้ (22 พ.ค.) นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือซักซ้อมแนวทางการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเฉพาะความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน เพียงฐานความผิดเดียว ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5377/2562 วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีผู้ต้องหากับมาตรการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ว่า เมื่อพนักงานอัยการโจทก์มีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานอื่น และสั่งฟ้องจำเลยเฉพาะความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ย่อมมีผลเท่ากับว่า จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเพียงฐานเดียว พนักงานอัยการจึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้จำเลยได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเสียก่อน

นายนิยม เผยอีกว่า หลักการ “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ต้องได้รับการบำบัดรักษา” นั้น ได้รับการยืนยันชัดเจนอีกครั้งตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ โดยผู้ป่วยจากการเสพเมทแอมเฟตามีน จะถูกส่งเข้ารับการบำบัด และไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ ขอให้เข้าใจด้วยว่า ต้องเป็นการกระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเพียงฐานเดียว หากกระทำความผิดและถูกแจ้งข้อหาอื่นๆ เช่น ขาย หรือ ผู้ขับขี่ยานพาหนะขณะเสพเมทแอมเฟตามีน จะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 รวมถึงผู้ป่วยจากการเสพยาเสพติด ที่เข้ารับการบำบัด จะได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง โดยแพทย์และพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ โดยเมื่อผ่านกระบวนการบำบัด รัฐจะให้การติดตามช่วยเหลือส่งเสริมการประกอบอาชีพ เพื่อให้ผู้เสพได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ที่สำคัญ คือ ไม่มีประวัติอาชญากรรมติดตัว

นายนิยม เผยต่อว่า แนวคิด “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” คือ การให้โอกาสผู้ที่เคยผิดพลาดได้มีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยใครก็สามารทำผิดพลาดในชีวิตได้ ผู้เสพยาเสพติดก็เช่นกันซึ่งทัศนคติและมุมมองเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้แนวคิด ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ จำเป็นที่บุคคลในครอบครัวและชุมชนต้องช่วยกันป้องกันและเฝ้าระวัง จึงขอเชิญชวนให้ผู้ใกล้ชิดกับผู้เสพ หรือผู้ใช้ยาเสพติดครอบครัวหรือชุมชน ขอให้ทำความเข้าใจ และแนะนำให้ผู้เสพ เข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งสามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่มีประวัติอาชญากรรม และไม่มีความผิด สามารถโทร.ปรึกษาการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่สายด่วน 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน ป.ป.ส. โทร. 1386 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น