นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 และรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ตามที่นายเจษฎา อรุณชัยภิรมย์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราบ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 โดยคดีดังกล่าวมี น.ส.พนิดา สกุนตะประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นผู้กล่าวหา ผู้ต้องหามีทั้งหมด 7 คน ได้แก่ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ ผู้ต้องหาที่ 1 นายมานัส ทับทิม ที่ 2 นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์ ที่ 3 นายชาติชาย เมณฑ์กูล ที่ 4 นายประชาวิทย์ ศรีทองสุข ที่ 5 ด.ต.ธงชัย วจีสัจจะ หรือ สจ.อ้อด ที่ 6 ชายไทยไม่ทราบชื่อ ที่ 7
คดีนี้สืบเนื่องจากนายวีรชัย สกุนตะประเสริฐ พี่ชายของผู้พิพากษาท่านดังกล่าวถูกอุ้มฆ่าโดยมูลเหตุสืบเนื่องจากการทำหน้าที่ผู้พิพากษาของ น.ส.พนิดา ซึ่งมี พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ เป็นจำเลยในคดีอาญาเรื่องอื่น เมื่อได้รับสำนวนแล้ว ต่อมานายเจษฎา อรุณชัยภิรมย์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 ซึ่งมีนายพรพิชัย ไชยมาตร อัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี
เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ ซึ่งกลุ่มคนร้ายผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมอุกอาจ ประชาชนและสื่อมวลชนต่างๆ ให้ความสนใจติดตามความคืบหน้าคดีมาอย่างต่อเนื่อง นายพรพิชัย ไชยมาตร อัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 จึงมีคำสั่งของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 ที่ 5/2563 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันพิจารณาคดีนี้ ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ซึ่งคณะทำงานประกอบด้วย นายบุญยัง จุมพล อัยการผู้เชี่ยวชาญ นายไพบูลย์ วนพงศ์ทิพากร อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงาน พ.ต.อ.ธงชัย กีรติธรรมากร อัยการประจำกอง เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และนายพรพิชัย ไชยมาตร อัยการพิเศษฝ่ายฯ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันพิจารณาสำนวนการสอบสวนโดยละเอียดรอบคอบแล้ว ได้เสนอความเห็นไปยังนางสิริญา อินทามระ รองอธิบดีอัยการคดีปราบปรามการทุจริตและนายเจษฎา อรุณชัยภิรมย์ อธิบดีอัยการคดีปราบปรามการทุจริต ซึ่งเห็นพ้องตามที่คณะทำงานเสนอ โดยสั่งฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ ผู้ต้องหาที่ 1 นายมานัส ทับทิม ที่ 2 นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์ ที่ 3 นายชาติชาย เมณฑ์กุล ที่ 4 นายประชาวิทย์ ศรีทองสุข ที่ 5 และดาบตำรวจธงชัยหรือ สจ.อ้อด วจีสัจจะ ที่ 6 ในข้อหา
1. ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้
2. ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่เป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไปถึงแก่ความตาย
3. ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
4. ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป
5. เป็นซ่องโจรโดยสมคบกันเพื่อกระทำผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต
6. ร่วมกันพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
7. ร่วมกันซ่อนเร้น ทำลายศพเพื่อปิดบังการตายและสาเหตุการตาย
8. ร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นเพื่ออำพรางคดี
9. ร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน
และเฉพาะ พ.ต.ท.บรรยิน ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกฟ้องเพิ่มเติมในข้อหาสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน เพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิและแต่งเครื่องแบบตำรวจโดยไม่มีสิทธิเพื่อกระทำผิดอาญา อีกด้วย
นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังขอให้นับโทษ พ.ต.ท.บรรยิน ผู้ต้องหาที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีหมายเลขคดีแดงที่ 636/2563 ที่ศาลลงโทษจำคุก พ.ต.ท.บรรยิน ในคดีปลอมเอกสารโอนหุ้นเสี่ยชูวงศ์ และนับโทษต่อจากโทษในคดีหมายเลขคดีดำที่ 4915/2559 ของศาลอาญาพระโขนงซึ่งพนักงานอัยการฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ข้อหาฆ่าเสี่ยชูวงศ์ โดยขณะนี้คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอีกด้วย
สำหรับชายไทยไม่ทราบชื่อ ผู้ต้องหาที่ 7 พนักงานสอบสวนเสนอเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง เพราะไม่มีพยานใดๆ ว่าผู้ต้องหาที่ 7 ไปร่วมกระทำผิดกับผู้ต้องหาที่ 1-6 เมื่อพนักงานอัยการซึ่งเป็นคณะทำงาน รองอธิบดีอัยการ และอธิบดีอัยการพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน โดยสั่งไม่ฟ้องชายไทยไม่ทราบชื่อผู้ต้องหาที่ 7 ตามเสนอ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นชอบตามคำสั่งพนักงานอัยการดังกล่าว
นายประยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้อง พ.ต.ท บรรยิน กับพวกทั้ง 6 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้วในวันนี้ ซึ่งคดีนี้พนักงานอัยการไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหก เพราะผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่ในอำนาจศาลแล้ว ขั้นตอนต่อไปตามกฎหมาย ศาลจะเบิกตัวจำเลยมาสอบคำให้การว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ซึ่งคดีนี้ไม่ว่าจำเลยจะให้การอย่างไร พนักงานอัยการก็ต้องสืบพยาน เพราะเป็นคดีมีโทษประหารชีวิต
สำหรับคดีนี้แม้เป็นคดีฆาตกรรม แต่ทางคดีมีข้อหาข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบต่อหน้าที่รวมอยู่ด้วย คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 3 พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องรวมทุกข้อหาในคดีนี้ต่อศาลดังกล่าว ผลคืบหน้าเป็นประการใด สำนักงานอัยการสูงสุดจะแจ้งให้ทราบต่อไป