xs
xsm
sm
md
lg

ผู้พิการทางสายตาสะดุดฐานตู้มิเตอร์ฯ ที่ตั้งขวาง “เบรลล์บล็อก” !

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ขึ้นชื่อว่า “อุบัติเหตุ” ย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าจะได้ใช้ความระมัดระวังแล้วก็ตามที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสัญจรไปมา ผู้ที่มีความพิการทางสายตาก็จะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ ได้มากกว่าคนปกติธรรมดาทั่ว ๆ ไป ซึ่งในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ก็ได้คำนึงถึงเรื่องนี้เช่นกัน

โดยในเส้นทางการสัญจรของผู้พิการทางสายตานี้ ก็ได้จัดให้มีเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า “เบรลล์บล็อก”
(Braille Block) ซึ่งเป็นแผ่นปูพื้นนำทางที่ติดตั้งไว้บนทางเท้า เป็นทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตาเพื่อช่วยให้สามารถเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

มีปัญหาที่ชวนคิดว่า... ถ้าหากว่าบริเวณทางเท้าหรือเบรลล์บล็อกดังกล่าว มีสิ่งกีดขวางหรือสิ่งก่อสร้างตั้งอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสาไฟฟ้า เสาป้ายบอกทาง ตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำประปา หรือว่าหัวรับน้ำดับเพลิง ซึ่งติดตั้งโดยไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง...แล้วมีผู้สัญจรไปมาหรือผู้พิการทางสายตาประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บเพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเหตุ ผู้เสียหายจะมีสิทธิได้รับการเยียวยาหรือจะเรียกร้องค่าเสียหายได้หรือไม่ ? เพียงใด ?

มาฟังเรื่องนี้กันค่ะ... ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตา

เรื่องมีอยู่ว่า... กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) ได้อนุญาตให้การประปานครหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) ติดตั้งตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำในพื้นที่บริเวณปากซอยลาดพร้าว ซึ่งหลังจากติดตั้งตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำแล้วเสร็จ
ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้พิการตาบอดทั้งสองข้าง ได้เดินไปตามทางเท้าที่เป็นแนวทางเดินคนตาบอด หรือเบรลล์บล็อก พอถึงบริเวณปากซอยดังกล่าวได้สะดุดฐานตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำ ทำให้ล้มลงโดยได้รับบาดเจ็บที่บริเวณใบหน้าและขอบตาข้างซ้ายมีอาการฟกช้ำ

ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันรื้อถอนหรือ
ย้ายตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำออกไปจากที่เกิดเหตุ หากไม่สามารถรื้อถอนหรือย้ายได้ให้ดำเนินการสร้างสิ่งป้องกันหรือทำการใด ๆ ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้พิการทางสายตาที่ต้องใช้ทางเดินสำหรับคนพิการ
ทางสายตา รวมทั้งขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีด้วย

คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การประปานครหลวงได้ก่อสร้างฐานรองรับตู้มิเตอร์
วัดแรงดันน้ำ มีความกว้างด้านละประมาณ ๕๐ เซนติเมตร สูงเหนือระดับทางเท้าประมาณ ๑๐ เซนติเมตร และติดตั้งเสาทรงกระบอกสูง ๘๒ เซนติเมตร ส่วนตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำมีรูปทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมทรงกระบอก มีเหลี่ยมมุม
แหลมคม กว้างด้านละประมาณ ๒๕ เซนติเมตร สูง ๖๙ เซนติเมตร เมื่อวัดจากพื้นทางเท้าถึงมุมด้านล่างของตู้จะสูงกว่าระดับพื้นทางเท้าสาธารณะ ๙๒ เซนติเมตร และเมื่อวัดจากพื้นทางเท้าถึงมุมด้านบนของตู้จะสูงกว่าระดับพื้นทางเท้าสาธารณะ ๑๖๑ เซนติเมตร ซึ่งทำให้ฐานเสาทรงกระบอกและตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำอยู่ในตำแหน่งแนวอาคาร

โดยประชิดขอบทางเดินเท้าด้านในและประชิดแนวทางเดินของผู้พิการทางสายตา อันเป็นการติดตั้งที่ชิดแนวเขตทางสาธารณะและระดับฐานตู้วัดแรงดันน้ำดังกล่าวไม่เสมอระดับทางเท้าตามที่ได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานคร

การประปานครหลวงจึงไม่ได้ก่อสร้างฐานรองรับตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำและติดตั้งตู้มิเตอร์
วัดแรงดันน้ำให้อยู่ในแนวเสาไฟฟ้าหลังคันหิน (ชิดขอบทางเท้าด้านผิวจราจร) และเว้นด้านใน (ชิดขอบทางเท้า) กว้างไม่น้อยกว่า ๑.๕๐ เมตร เพื่อเป็นทางเดินเท้าตลอดแนว ตามแบบที่ได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานคร และตามข้อ ๕ ของประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขออนุญาตใช้ทางเท้าสาธารณะ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ กับทั้งการประปานครหลวงไม่ได้แจ้งให้กรุงเทพมหานครตรวจสอบสภาพทางเท้าทั้งก่อนและหลังการติดตั้ง การดำเนินการของการประปานครหลวงจึงไม่เป็นไปตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค

เมื่อการติดตั้งตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตาได้เดินสะดุดฐานรองรับตู้มิเตอร์ฯ ล้มลง โดยใบหน้ากระแทกกับตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำได้รับบาดเจ็บ ซึ่งการติดตั้งตู้มิเตอร์
วัดแรงดันน้ำดังกล่าวได้อยู่ในตำแหน่งแนวอาคาร ประชิดขอบทางเดินเท้าด้านในและประชิดแนวทางเดินของ
ผู้พิการทางสายตา จึงอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตาได้

กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ในดูแลรักษาที่สาธารณะเพื่อให้มีความสะดวกและปลอดภัยแก่ประชาชนที่ใช้ในการสัญจรตามปกติวิสัย เมื่อการประปานครหลวงก่อสร้างและติดตั้ง
ตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำโดยไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนดไว้ในคำขออนุญาต กรุงเทพมหานครย่อมมีหน้าที่ที่ต้องตรวจสอบดูแลให้การประปานครหลวงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้

แต่กรุงเทพมหานครกลับได้ปล่อยให้มีการติดตั้งตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำพิพาทโดยไม่ถูกต้องจนถึงวันที่ผู้ฟ้องคดีเดินสะดุดฐานตู้มิเตอร์ฯ ดังกล่าว เป็นเวลา ๒ ปีกว่า โดยมิได้ดำเนินการให้ตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำ อยู่ในสภาพที่สามารถใช้การได้โดยไม่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนผู้สัญจรไปมา
ตามมาตรา ๘๙ (๖) และ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงถือได้ว่า กรุงเทพมหานครละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และการที่ผู้ฟ้องคดีได้รับบาดเจ็บจึงเป็นผลโดยตรงจากการละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าว อันถือเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี

และแม้การประปานครหลวงจะอ้างว่า ได้ปรับปรุงโดยใช้ตะแกรงเหล็กล้อมรอบตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำ
ดังกล่าวแล้ว และสำนักงานเขตจะปรับแนวทางเดินผู้พิการทางสายตาไม่ให้ประชิดตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำพิพาท
การประปานครหลวงจึงไม่จำต้องย้ายตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำออกจากบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใดนั้น

ศาลท่านเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวก็ไม่ทำให้การติดตั้งตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำที่ก่อสร้างไม่ถูกต้อง กลายเป็นชอบด้วยประกาศกรุงเทพมหานครดังกล่าวข้างต้นได้ และแม้การประปานครหลวงจะกล่าวอ้างว่าการรื้อถอนตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำ จะทำให้การประปานครหลวงเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินหลายแสนบาท แต่ความเสียหายดังกล่าว ก็ไม่อาจเทียบได้กับความเดือดร้อนเสียหายของปัจเจกบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการที่กำหนดไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงพิพากษาให้กรุงเทพมหานครดำเนินการรื้อถอนตู้มิเตอร์วัดแรงดันน้ำออกไปภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีด้วย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่
อ. ๓๖๔/๒๕๕๘)

สรุปได้ว่า... ผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บเพราะสิ่งก่อสร้างบนทางเท้าที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิได้รับการเยียวยาหรือชดใช้ค่าเสียหายจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบตามกฎหมาย และหน่วยงานดังกล่าวยังต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการโดยไม่ชอบนั้นออกด้วย แม้รัฐจะต้องสูญเสียงบประประมาณไปในการดังกล่าวก็ไม่อาจเทียบได้กับความปลอดภัยของประชาชน

นอกจากนี้... ยังถือเป็นแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดี สำหรับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ
ที่มีหน้าที่จัดให้มีและบำรุงรักษาทางหรือที่สาธารณะ เพื่อให้มีความสะดวกและปลอดภัยแก่ประชาชนที่ใช้ในการสัญจร โดยในการก่อสร้างหรือกระทำการใดของรัฐ จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและคู่มือที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยไม่อาจดำเนินการไปตามอำเภอใจ เพราะหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการดำเนินการที่ไม่ชอบ จะถือเป็นการกระทำละเมิดที่ต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่... สายด่วนศาลปกครอง ๑๓๕๕)

ป. ธรรมศลีญ์
กำลังโหลดความคิดเห็น