เฟซบุ๊กประเทศไทย (Facebook Thailand) โชว์สถิติผู้ใช้ 45 ล้านคนในไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มต่างๆ บนเฟซบุ๊กมากกว่า 6 ล้านกลุ่ม ตัวเลขนี้เทียบไม่ได้กับหลายสิบล้านกลุ่มที่มีการเชื่อมต่อกันต่อเนื่องในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุโควิด-19 ทำให้เกิดกลุ่มแบ่งปันกิจกรรมระหว่างอยู่บ้านมากขึ้น สำหรับกลุ่มฮอต “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส-ธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน” ถูกแยกออกจากกลุ่มสนับสนุนชุมชน ไปเป็นกลุ่มที่เน้นการซื้อขาย เบื้องต้นยังไม่มีการเจรจาเพิ่มเติมแต่เฟซบุ๊กระบุว่าติดตามอย่างสนใจ และอาจมีการประกาศข่าวตามมาในอนาคต
เกรซ แคลปแฮม หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรและโครงการเพื่อชุมชนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บริษัท เฟซบุ๊ก กล่าวระหว่างการเปิดงานไทยแลนด์คอมมูนิตี้เดย์ ‘Thailand Community Day’ ว่าจากปี 2017 เฟซบุ๊กได้เปิดให้บริการเครื่องมือเพื่อจัดการกลุ่มบนแพลตฟอร์ม มาวันนี้ Facebook Group ถูกสร้างขึ้นจำนวนหลายสิบล้านกลุ่มทั่วโลก กลุ่มเหล่านี้ถูกใช้เป็นช่องทางรวมตัวของผู้ที่มีงานอดิเรกหรือมีกิจกรรมคล้ายกัน ซึ่งในช่วงที่ผู้คนต้องอยู่บ้าน พบว่ากลุ่มที่มีการรวมตัวเกิดขึ้นมากมักมีเนื้อหาเช่นกลุ่มการเลี้ยงลูก กลุ่มคาราโอเกะออนไลน์ กลุ่มเอสเอ็มอี คุณหมอ คุณครู
“เฟซบุ๊กจะเน้นให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องมือ การให้ความรู้และทักษะ รวมถึงให้เงินทุนสมทบ เพื่อสนับสนุนการสร้างผลดีให้กับชุมชนในประเทศไทย ในช่วงโควิด เฟซบุ๊กเน้นเรื่องการให้ข้อมูลถูกต้องจากองค์กรที่เชื่อถือได้ มีการโชว์ลิงก์องค์การอนามัยโลก มีการให้ทรัพยากรอื่นกับแอดมินเพจ ให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็มีการจัดอีเวนท์บนออนไลน์ครั้งแรก เหมือนทำเวิร์กชอปให้ผู้นำชุมนและเพจ สามารถเชื่อมต่อกันลูกเพจได้ดีขึ้น ทุกคนสามารถร่วมเสวนาเพื่อแชร์หลักปฏบัติที่ดี”
เกรซระบุว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เฟซบุ๊กได้จัดให้มีห้องเรียนออนไลน์ชื่อ “เลิร์นนิงแล็ปส์” ให้ผู้นำชุมชนเข้ามาศึกษาได้ผ่าน 3 ภาษาคือภาษาไทย ภาษาบาฮาซา และภาษาอังกฤษ ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางทั้งด้านให้ความช่วยเหลือและการให้ความรู้แก่สมาชิกกลุ่มผ่านการทำเว็บมินาร์ได้
ล่าสุด เฟซบุ๊กจะทำโครงการคอมมูนิตี้แอคเซสเลอเรเตอร์โปรแกรม (Community Accelerator) เพื่อเชิญแอดมินกลุ่มใน 4 ประเทศคือออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ให้เข้ามาสมัครเพื่ออบรมเรื่องการสร้างคอมมูนิตี้บนเฟซบุ๊ก กลุ่มเป้าหมายที่สมัครได้คือทุกคนที่เป็นตัวแทนชุมชน ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโต และมีผลดีกับชุมชนในประเทศ โครงการนี้เปิดรับสมัครตั้งแต่มีนาคมถึงพฤษภาคมนี้
กลุ่มเฟซบุ๊กไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการนี้เมื่อปี 2018 คือกลุ่มวิ่งด้วยกัน (กลุ่ม Run2gether) ซึ่งฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้นำกลุ่มบอกว่าการได้รับคำปรึกษาจากโครงการมีส่วนให้ชุมชนเติบโตก้าวกระโดด จากก่อนหน้านี้ที่มีการจัดกิจกรรมวิ่งคู่กับผู้พิการใน 4 จังหวัด มาเป็น 10 จังหวัดหลังจากเข้าโครงการ ขณะเดียวกันก็สามารถขยายไปในต่างประเทษ และยังได้รู้จักกลุ่มอื่นเป็นเครือข่ายบนแพลตฟอร์มได้
นอกจากกลุ่ม Run2gether เฟซบุ๊กยังชูกลุ่ม Thailand Restaurant Rescue :: ช่วยร้านอาหารไทยต้านภัย COVID-19 ว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างที่หนุนพลังบวกในชุมชนไทย ยังมีกลุ่ม Courageous Kitchen ที่เน้นการแชร์สูตรอาหาร รวมถึงกลุ่ม Read for the Blind และกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ (Help Us Read) ที่คนตาดีสามารถช่วยพิมพ์ข้อความให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าใจภาพได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มที่เชื่อมผู้ใช้ที่มีงานอดิเรกเหมือนกัน เป็นพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาพูดคุยเรื่องที่สนใจร่วมกัน และผู้ใช้ทั่วไปสามารถสร้างกลุ่มได้ทุกคน ต่างจากเพจที่เป็นพื้นที่ให้หน่วยงานธุรกิจแสดงตัวตน
แนวทางที่เฟซบุ๊กเน้นให้แอดมินกลุ่มเดินตาม คือการออกแบบให้เหมาะกับคนที่มีความเชื่อร่วมกัน แอดมินกลุ่มควรให้ตั้งค่ากลุ่มให้เหมาะสมเช่นสาธารณะหรือส่วนตัว ควรดูแลการเข้าร่วมอย่างเหมาะสมว่าต้องการสกรีนเนื้อหาก่อนหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ควรสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งภาพที่แสดงและความถี่ในการโพสต์ที่สม่ำเสมอ และต้องไม่ลืมคัดคุณภาพสมาชิกคนแรกๆของกลุ่ม เพราะจะทำให้กลุ่มมีเนื้อหาที่ดี
นอกจากนี้ กลุ่มใหญ่ควรมีการรวมกลุ่มผู้ดูแล โดยคัดเลือกจากผู้ที่มีความสนใจทางเดียวกัน อาจจะตั้งข้อกำหนดเนื้อหาที่อยากให้มี แล้วให้ผู้ดูแลช่วยจัดการ หรืออาจมีระบบสื่อสารระหว่างแอดมิน ขณะเดียวกัน แอดมินควรแสดงความมีส่วนร่วมเพื่อสร้างบรรยากาศการสนทนา และถ้าไม่แน่ใจว่าจะโพสต์อะไร ก็ควรทำปฏิทินโพสต์ให้ชัดเจน จุดนี้แอดมินสามารถสนับสนุนให้สมาชิกโพสต์ได้ง่าย เช่น การตั้งโพลสำรวจ หรือการจัดไลฟ์ ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกรู้สึกดีที่ความเห็นถูกรับฟัง ที่สำคัญต้องไม่ลืมการใช้ข้อมูลเชิงลึกหรือ Group Insight ที่จะทำให้เห็นการขยายตัวของกลุ่มในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งจำนวนสมาชิกที่เห็นโพสต์ รวมถึงช่วงเวลายอดนิยมที่โพสต์ถูกอ่านมากที่สุด
เกรซระบุว่ากลุ่มใหม่ที่เป็นกระแสแรงมากในเฟซบุ๊กไทยอย่าง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน” หรือ “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส” ถูกจัดเป็นกลุ่มที่มีเนื้อหาซื้อขายสินค้า ไม่ใช่กลุ่มที่มีอิมแพคต่อชุมชนคนไทย ทำให้กลุ่มลักษณะนี้อยู่ในการจัดการของทีมเฉพาะที่เน้นเรื่องโซเชียลคอมเมิร์ซ ทำให้ไม่มีการติดต่อเพื่อเข้าโครงการพิเศษ
อย่างไรก็ตาม ประชาสัมพันธ์ยอมรับว่าเฟซบุ๊กประเทศไทยมีความสนใจทั้ง 2 กลุ่มนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการร่วมมือหรือการประกาศข่าวอื่นตามมาในอนาคต โดยสถิติวันที่ 27 เมษายน พบว่ากลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน มีสมาชิก 162,501 รายทั้งที่เพิ่งก่อตั้ง 20 วัน (กลุ่มสร้างขึ้นเมื่อ 7 เมษายน 2020) ขณะที่จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส มีสมาชิก 217,350 รายหลังจากก่อตั้งวันที่ 11 เมษายน 2020 ทั้ง 2 กลุ่มขนานนามตัวเองว่าเป็นกลุ่มแลกเปลี่ยน ซื้อขาย สินค้า และบริการ ของนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน และบุคลากรของมหาวิทยาลัย
ทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในไทย เพราะกลุ่มแฟนคลับคนดังอย่าง F.c. เจนนี่ รัชนก สุวรรณเกตุ นั้นมีสมาชิกมากกว่า 5.4 แสนคน มีสถิติ 2.3 พัน โพสต์ต่อวัน ขณะที่กลุ่ม อาหารไทยแท้ แม่ให้มา มีสมาชิก 5.4 แสนคน บนสถิติ 1 พันโพสต์ต่อวัน.