ภรรยานักธุรกิจทัวร์ ส่ง จม.ร้องสื่อ บอกไม่ได้รับความเป็นธรรม สามีถูกจับกุมตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.62 ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวตัวหลายรอบ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาต ศาลยกเหตุเป็นคดีมูลค่าความเสียหายสูงเกรงหลบหนี ทั้งที่หลักทรัพย์ยื่นประกันตัวมีมูลค่ามากกว่าความเสียหาย หวังแนวปฏิบัติของ ปธ.ศาลฎีกาช่วงโควิดระบาด สามีจะได้ประกันตัว แต่ถ้ายังไม่ได้จะยื่นถวายฎีกาต่อไป
นางพนัชกร แซ่โค้ว ภรรยาของนายอัมพล แซ่ตัน เจ้าของ บริษัท วี.แอล.ซี.แทรเวิล จํากัด ผู้ประกอบธุรกิจทัวร์ ทำจดหมาย ลงวันที่ 8 เมษายน 2563 ร้องเรียนถึงสื่อมวลชน กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม มีรายละเอียดดังนี้
เรียน สื่อมวลชน
ด้วย ดิฉัน นางพนัชกร แซ่โค้ว ภรรยาของนายอัมพล แซ่ตัน รู้สึกอัดอั้นใจอย่างเป็นที่สุดที่บุคคลในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นศาล อันเป็นที่พึ่งสุดท้ายปฏิบัติและกระทํากับประชาชน อย่างไร้เหตุผลและไร้ความเมตตาปราณี โดยมูลเหตุนี้มีข้อเท็จจริงดังนี้
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 นายอัมพล แซ่ตัน สามีของดิฉัน ถูกจับกุมตาม หมายจับของศาลแขวงสมุทรปราการ ที่ 197/2562 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 และถูกควบคุมตัวมาโดยตลอด ที่ผ่านมาดิฉันและบุตรพยายามยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวมาโดยตลอดแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยอ้างเหตุคดีทุนทรัพย์สูง เกรงที่จะหลบหนี รายละเอียดปรากฏตามเอกสารคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และคําร้องอุทธรณ์คําสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราว ท้ายหนังสือร้องเรียนนี้ ซึ่งได้ยื่นมาเป็นจํานวนหลายครั้งมากนับตั้งแต่สามีของดิฉันถูกควบคุมตัวและถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจําสมุทรปราการ อันเป็นที่โจษขานกันทั่วเรือนจําและที่ศาลแขวงสมุทรปราการว่า คดีนี้เล็กน้อย แค่นี้ทําไมประกันตัวยากเย็นนัก ทั้งที่เมื่อเปรียบเทียบคดีนี้กับคดีรายอื่นๆ ซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่า ทุน ทรัพย์สูงกว่าเป็นหลายเท่าแต่กลับได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่คดีของสามีดิฉันนั้นเป็นคดีความผิด ต่อส่วนตัวและอัตราโทษไม่สูงและรูปคดีสามีของดิฉันให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ทั้งในชั้นสอบสวนและการพิจารณาคดีมาโดยตลอด กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเห็นใจจากศาลที่นั่งพิจารณา เพราะเกรงว่า การให้ความเป็นธรรมและถูกต้องนั้น ตัวเองอาจโดนครหาเพราะสั่งกลับความเห็นศาลท่านอื่น โดยมิได้คํานึงถึงความถูกต้องเป็นธรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลเดือดร้อนจากการกระทํานั้น ทั้งที่ในการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ก็เพื่อให้สามีของดิฉันได้มีโอกาสออกมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ตามสิทธิมนุษยชนและสิทธิของจําเลยในคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยสามีของดิฉันได้เคยยื่นคําร้อง ฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อศาลชั้นต้น ได้ไต่สวนให้ได้ความจริงเกี่ยวกับมูลค่าความเสียหายและพฤติการณ์หลบหนีตามคําคัดค้านก่อนเพื่อให้การพิจารณาสั่งปล่อยตัวชั่วคราวเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและศาลจะได้ความจริงถึงเรื่องจํานวนทุนทรัพย์ที่เสียหายเพื่อจะได้กําหนดให้สามีของดิฉันวางหลักประกันตามความเป็นจริงและเหมาะสมตามที่กฎหมายกําหนดหรือตามที่ศาลจะเห็นสมควร นอกจากนี้จะได้ทราบถึงพฤติการณ์ต่างๆ ตามที่ผู้เสียหายและพนักงานอัยการโจทก์คัดค้านตามคําร้องนั้นเป็นความจริงหรือมีเหตุผลตามสมควรหรือไม่ เนื่องจากสามีของดิฉันได้รับผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิและได้รับความเสียหายตามคําคัดค้านดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนและการพิจารณาคดี จากเหตุกล่าวอ้างที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและไม่มีโอกาสออกมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันถูกคุมขังมาเป็นเวลานานถึง 5 เดือนเศษ ซึ่งนับว่าเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ซึ่งศาลชั้นต้นนั้นนอกจากจะไม่พิจารณาคําร้องโดยถี่ถ้วนก่อนด้วยการไต่สวนให้ได้ความ โดยเรียกโจทก์มาสอบถามหรือพิจารณาจากเอกสารหลักฐานแนบท้ายคําร้อง ซึ่งจํานวนมูลค่าความเสียหายและการชดใช้ก่อนหน้านั้นมีความชัดเจนอยู่ในตัวว่ามีจํานวนไม่ตรงกับคําฟ้องและหนังสือคัดค้าน แต่ศาลชั้นต้นยังคงใช้เหตุผลเดิมเป็นเหตุผลในการสั่งยกคําร้อง ซึ่งยังไม่สอดคล้องกับ เหตุผลและข้อเท็จจริงเพราะหากพิจารณาถึงเหตุผลข้อโต้แย้งกับจํานวนมูลค่าความเสียหาย ซึ่งเหลือประมาณ 17,800,000 บาท โดยหลักประกันที่จะนํามาเป็นหลักประกันในการขอปล่อยตัวชั่วคราวมีมูลค่า 43,515,000 บาท ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบหลักประกันที่ใช้ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวกับความเสียหายที่ยังไม่ได้รับคืนนั้น จึงไม่ได้สูงตามคํากล่าวอ้างที่ใช้เป็นเหตุผลแต่อย่างใด ดิฉันรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมเสียเลยจากดุลยพินิจของศาล และเมื่อใช้สิทธิที่จะอุทธรณ์คําสั่งแล้ว ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นกันและคําสั่งเป็นที่สุดอยู่แค่นี้ จําเป็นต้องยื่นครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่ได้รับการปล่อยตัว ชั่วคราว ทั้งที่สามีของดิฉันได้ให้คํามั่นต่อศาล ว่าหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วจะไม่หลบหนีและ จะมารับฟังการพิจารณาคดีตามที่ศาลนัดทุกครั้ง ทั้งยังยินยอมที่จะรับเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว ที่ศาลจะกําหนดทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นกรณีให้ส่งมอบหนังสือเดินทางไว้ต่อศาล และยินยอมที่จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถตรวจสอบหรือจํากัดการเดินทางก็ได้ ประกอบกับได้นําหลักทรัพย์ซึ่งมีทั้งเงินสด แคชเชียร์เช็คและโฉนดที่ดินมาวางเป็นหลักประกัน ซึ่งรวมแล้วมีจํานวนมากเกินกว่าความเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาวางเป็นหลักประกันต่อศาลด้วย แต่ศาลยังคงมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวสามีของดิฉันเป็นการชั่วคราว เนื่องจากไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิม ให้ยกคําร้อง
นอกจากนี้ สามีของดิฉันได้เคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปแล้วหลายที่ในลําดับการบังคับบัญชาของศาลยุติธรรม อาทิเช่น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงสมุทรปราการ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 รวมถึงประธานศาลฎีกา ก็ยังคงนิ่งเฉยไร้คําตอบหรือคําอธิบายชี้แจง
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ประธานศาลฎีกาได้ออกคําแนะนําของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2014 (Coronavirus Diesase : COVID-14) ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 2 เมษายน 2563 ข้อ 7 ระบุว่า “การพิจารณาสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวในทุกชั้นศาล ให้ปฏิบัติตามคําแนะนําของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2562 และเพื่อมิให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจําอันอาจนําไปสู่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผู้ต้องหาหรือจําเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจําเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือ จําเลยซึ่งมีคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุกไม่เกินห้าปี แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยกําหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของจําเลยหรือเงื่อนไขอื่นใด เช่น การให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถ ตรวจสอบหรือจํากัดการเดินทางของจําเลยหรืออาจมีคําสั่งแต่งตั้งผู้กํากับดูแลจําเลยตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการกํากับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560..” สามีของดิฉันได้ดําเนินการทําคําแถลงประกอบคําร้องของปล่อยตัวชั่วคราวไว้รอเพื่อยื่นแล้ว แต่จําเป็นต้องรอเพราะไม่มีความมั่นใจว่าจะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมอีก จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยสื่อเป็นที่พึ่งเพราะไม่มีความมั่นใจประชาชนผู้บริสุทธิ์จะหวังพึ่งความยุติธรรมได้อีก หรือไม่ ท้ายสุดนี้หากยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจริงๆ จะขอยื่นถวายฎีกาต่อไป
ขอแสดงความเคารพอย่างสูง
ลงชื่อ
ผู้ร้องเรียน
(นางพนัชกร แซ่โค้ว)