xs
xsm
sm
md
lg

“ทนายอนันต์ชัย-ปธ.สภาธุรกิจไทย-พม่า” รุดเยี่ยมประกันตัว 2 หนุ่มสาวพม่าขนเงินสด 16.5 ล้านเข้าไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ทนายอนันต์ชัย-ปธ.สภาธุรกิจไทย-พม่า รุดเยี่ยมขอประกันตัว 2 หนุ่มสาวพม่าขนเงินสด 16.5 ล้านเข้าไทย ยันมีหลักฐานซื้อขายกับ ปตท.จริง อัดยับ “ตำรวจทางหลวง” แถลงข่าวประจานมิชอบ



เมื่อเวลา 09.45 น. วันนี้ (9 เม.ย.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนายจ่อเฮง นักธุรกิจน้ำมันชาวพม่า พร้อมด้วยนายกริช อึ้งวิฑูรย์สถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-พม่า (TMBC) และผู้ก่อตั้งสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมพม่า-ไทย (MTCC) เดินทางมาศาลเพื่อเข้าเยี่ยมและยื่นขอประกันตัวนายแตะ ป่ายอู อายุ 30 ปี กับ น.ส.มิโฉ่ อายุ 24 ปี ทั้งสองเป็นชาวพม่า ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 จากกรณีขนเงินสด 16.5 ล้านบาท เข้าประเทศไทยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก

นายอนันต์ชัยกล่าวว่า จากเหตุการณ์ตำรวจทางหลวงจับกุมชาวพม่า 2 คนที่หอบเงินมาเพื่อโอนให้กับ ปตท. ทำให้เกิดประเด็นว่าการกระทำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เราต้องแยกประเด็นการนำเงินเข้ามาโดยไม่ผ่านศุลกากรผิดกฎหมาย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ต้องว่าไปตามกระบวนการกฎหมาย ไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องการทำตามหน้าที่ของตำรวจทางหลวง ทำตามอำนาจหน้าที่หรือไม่ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 20.30 น. ตนได้รับการขอร้องจากนายจ่อเฮง นักธุรกิจพันล้านที่ซื้อขายน้ำมันกับ ปตท.ซึ่งทั้งสองคนมีหลักฐานยืนยันทั้งหมด

นายอนันต์ชัยกล่าวต่อว่า หลังจับกุม ตำรวจทางหลวงจัดแถลงข่าว ตนขอคุยกับตำรวจยศนายดาบ ตนบอกอย่าแถลงข่าว เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเงินของนักธุรกิจพม่าที่ทรงอิทธิพลด้านค้าขายพื้นที่ของกะเหรี่ยง ถ้าปิดเมียวดีขึ้นมาจะทำอย่างไร และมีคำสั่ง ตร.ที่ 855/2548 กับ 465/2550 ห้ามอนุญาตหรือจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงถ่ายภาพ สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวของบุคคลดังต่อไปนี้ คือผู้ต้องหาในระหว่างการควบคุมของตำรวจ การจัดแถลงข่าวผิดคำสั่ง ตร.หรือไม่ เอาเขามาแถลงประจานออกสื่อ

นายอนันต์ชัยกล่าวถึงเรื่องการจับกุมว่า ตำรวจทางหลวงมีหน้าที่อะไร ตำรวจมีอำนาจจับกุมทั่วประเทศไม่เถียง แต่ขณะเกิดเหตุเป็นท้องที่ สภ.แม่สอด ตำรวจให้ข่าวว่าติดตามตั้งแต่สะพานเมียวดีมา 200 เมตร ถึงจับกุม ใช่หน้าที่คุณหรือ เป็นหน้าที่ของ สภ.แม่สอด ต้องทำตาม ป.วิอาญา มาตรา 83 สั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมด้วยผู้จับ มาตรา 84 โดยทันที และให้ส่งตัวผู้ถูกจับแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจท้องที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังกล่าว

นายอนันต์ชัยกล่าวต่อว่า เมื่อตำรวจทางหลวงใช้อำนาจจับกุมแล้วต้องส่ง สภ.แม่สอดทันที แต่คุณเอาไปกักไว้ที่ตู้ยามตำรวจทางหลวง ตั้งแต่ 10.00-24.00 น. แล้วมาส่งกองปราบปราม ทำเพื่ออะไร กฎหมายให้รีบส่งพนักงานสอบสวนก็เพื่อไม่ให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ อยากฝากบอกผู้บัญชาการสอบสวนกลางอย่าเชื่อลูกน้องมาก จะต้องทำตามกฎหมาย และที่สำคัญประธานสภาทนายความฯ แม่สอด ขอไปพบไม่ให้พบผู้ต้องหาซึ่งถือเป็นสิทธิตาม ป.วิอาญา มาตรา 7

“ที่ผมมาเรียกร้องเนี่ย ไม่ใช่เรียกร้องอะไร เมื่อคุณบอกว่าเราทำผิดกฎหมาย ไม่เป็นไรดำเนินไป แต่คุณต้องทำตามกฎหมายด้วย กฎหมายเขาบอกเอาไว้ คุณต้องส่งท้องที่ เพื่อกันการเรียกรับผลประโยชน์ แต่คุณไม่ทำ ผมจึงให้คุณจ่อเฮงมาแจ้งความคนหายก่อนในเบื้องต้น และถามต่อว่าผมจะทำอะไรกับพนักงานตำรวจทั้ง 4-5 นาย ผมบอกได้เลยครับ ผมไม่มีวันที่จะไปแจ้งตำรวจหรอกครับ เพราะว่าพวกเดียวกัน ผมไม่แจ้ง ผมจะไปร้อง ป.ป.ช. เตรียมตัวก็แล้วกัน หลังจากวันนี้นะครับ แล้วผมอยากจะบอกฝากนะครับ เมื่อไหร่เกิดวิกฤตการณ์ปิดด่านขึ้นมา แล้วพวกคุณจะรู้สึก” นายอนันต์ชัยกล่าว

ด้านนายกริช ประธานสภาธุรกิจไทย-พม่า เปิดเผยว่า ตนรู้จักนายจ่อเฮงดี เป็นคนค้าขายใหญ่โต ไม่ใช่แค่เฉพาะในเมียวดี ในย่างกุ้งก็ใช่ และเป็นคนสนิทของทางกะเหรี่ยง ถ้าไปทำให้บรรยากาศการค้าเสียหาย ในอนาคตหลังไข้หวัดโควิด-19 หายไปแล้วเมื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งจะทำอย่างไร ในไทยเราเจอไข้หวัดโควิด-19 หนักหน่วง เศรษฐกิจย่ำแย่อยู่แล้ว ถ้าเขาปิดด่านไม่ค้าขายกับเรา ตนนึกไม่ออกเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย เขายินดีรับฟัง การเอาเงินข้ามมาอยู่ในช่วงวิกฤต ฝั่งพม่าธนาคารปิดหมด เขาต้องการชำระหนี้กับ ปตท. เป็นเรื่องปกติที่จะเอาเงินเข้ามา จับกุมเขาทาง ปตท.ก็ติดต่อเข้ามาหาทนายความ เขายืนยันว่านายจ่อเฮงจะนำเงินมาชำระหนี้ให้เขา ถ้าเราอะลุ้มอล่วยกัน ทำอย่างไรก็ได้ให้เศรษฐกิจเราเดินหน้า ให้ทุกอย่างอยู่ในความเป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะตำรวจจับกุมอ้างว่าไม่มีหลักฐานชี้แจงที่มาของเงินดังกล่าวได้ นายอนันต์ชัยกล่าวว่า ไม่ใช่ ผู้ถูกจับเอาหลักฐานการซื้อขาย ปตท.ไปให้ และมีหลักฐานซื้อขายจริง แต่ตำรวจไม่ดู ที่สำคัญการชี้เบาะแสได้รางวัลนำจับ 20 เปอร์เซ็นต์ ตนไม่รู้มีนัยอะไรหรือเปล่า ตำรวจแถลง นักธุรกิจ-พยานแถลง จะเชื่อใครให้ประชาชนตัดสินใจเอาละกัน มีหลักฐานเป็นร้อยฉบับแต่ไม่ดู แต่เลือกแถลงข่าวเพื่อสร้างผลงาน ยังไงก็ไปยื่นร้องเรียนถึง ป.ป.ช.แน่นอน

เมื่อถามถึงวิธีการโอนเงินที่ถูกกฎหมาย ประธานสภาธุรกิจไทย-พม่ากล่าวว่า วิธีการที่ถูกกฎหมายจะต้องนำเงินเข้ามาต้องไปสำแดงที่ศุลกากร ลูกน้องนายจ่อเฮงไม่ทราบ เขาไม่เคยทำอย่างนี้มาก่อน เป็นประเพณีปฏิบัติที่คนอยู่ชายแดนหิ้วเงินข้ามมาจ่ายเป็นเรื่องปกติ คนไทยก็เอาเงินสดข้ามไปฝั่งพม่าโดยไม่ได้สำแดง ทั้งสองคนก็ยอมรับให้เจ้าหน้าที่ปรับไป ยอมทำตามกฎหมายทุกอย่างไม่ได้ดื้อ เดือนหนึ่งเขาซื้อ ปตท.ทั้งหมด 280 กว่าชุด วันนี้ธนาคารที่เมียวดีไม่มีสิทธิโอนเงินออกมา เขาต้องโอนเข้าไปในย่างกุ้ง แล้วย่างกุ้งถึงโอนออกมาอีกที ทีนี้ธนาคารที่ย่างกุ้งปิดหมด ทำไม่ได้ ถึงเวลาชำระเงินแล้วเขาก็หิ้วเงินมาชำระหนี้ให้ ระบบออนไลน์ไม่มี เขาเพิ่งจะเปิดประเทศ ทั้งสองประเทศเราต้องอะลุ้มอล่วยกัน

ขณะที่เมื่อช่วงสายวันเดียวกัน พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้ควบคุมตัวนายเดด ไป่อู อายุ 29 ปี และน.ส.นามิทู อายุ 24 ปี สองผู้ต้องหาชาวเมียนมาที่ลักลอบขนเงินเข้ามาในราชอาณาจักร มายื่นคำร้องฝากขังต่อศาลครั้งแรกเป็นเวลา 12 วันตั้งแต่วันที่ 9-20 เม.ย.เนื่องจากต้องสอบปากคำพยานอีก 6ปาก รอผลการตรวจประวัติอาชญากรผู้ต้องหา รอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง และอื่นๆ

คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.วันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาได้ลักลอบนำเงินสดจากประเทศเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยโดยนายเดดไป่อูขับรถบรรทุก 6 ล้อ ยี่ห้อมาสด้า สีขาว ทะเบียน BGO IQ-5686 จากฝั่งประเทศเมียนมา โดยมีน.ส.นามิทู นั่งข้าง ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 จ.ตาก เมื่อมาถึงถนนในหมู่บ้านวังตะเคียน ห่างด่านศุลกากร 200 เมตร ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง (กก.5 บก.ทล.) จึงแสดงตัวขอตรวจสอบพบผู้ต้องหาทั้ง 2 คน มีหนังสือผ่านแดนชั่วคราวถูกต้อง ภายในรถพบถุงพลาสติกสีแดงขนาดใหญ่ ภายในมีถุงสีดำ 2 ถุง บรรจุธนบัตรไทย ฉบับละ 1,000 บาท จำนวน16,500 ฉบับ รวมเป็นเงิน 16.5 ล้านบาท จึงยึดไว้เป็นของกลาง และ ส่งพนักงานสอบสวนกองกก.4 ป. ดำเนินคดี ฐานร่วมกันนำเข้ามาจากนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นเงินตราที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร โดยมิได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ศุลกากรพ.ศ.2560มาตรา 242,252 ,ร่วมกันฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฏกระทรวง และประกาศ รมว.คลังเรื่องข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้บุคคลแจ้งรายการเกี่ยวกับการนำเงินเกินกว่า 4.5แสนบาท เข้ามาในประเทศ และการควบคุมแลกเปลี่ยนเงินตรา(ฉบับที่6)พ.ศ.2560 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา83

ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสองให้การรับสารภาพข้อหาลักลอบนำเงินตราเข้ามาภายในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต

ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่า ผู้ต้องหาจะหลบหนี

ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้

ศาลให้ประกัน 2 ผตห.เมียนมาประกันคนละล้าน สวมกำไลEM ห้ามออกนอกราชอาณาจักร

ต่อมานายอนันต์ชัย ทนายความได้ยื่นคำร้อง พร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด ขอปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาทั้งสอง

ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสอง โดยตีราคาประกันคนละ 1 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงืี่อนไขให้ผู้ต้องหาทั้งสอง ติดอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ (กำไลEM)ที่ข้อเท้า และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาต










กำลังโหลดความคิดเห็น