xs
xsm
sm
md
lg

“อัยการ”สั่งฟ้องผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3 วัน 623 ราย ขอศาลลงโทษหนักไม่รอลงอาญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
“รองโฆษกอัยการ” เผย 3 วัน สั่งฟ้องผู้กระทำผิด ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเเล้ว 623 ราย กว่า 400 คดี ตามนโยบายสั่งคดีเฉียบขาด รวดเร็ว ขอศาลลงโทษสถานหนัก ไม่รอลงอาญา เพื่อหยุดเเพร่ระบาดโควิด-19

วันนี้ (7 เม.ย.) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวเปิดเผยสถิติผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับ 1 ระหว่างวันที่ 3-6 เม.ย. 2563 ว่า ขณะนี้ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้กำชับให้สำนักงานอัยการทั่วประเทศ นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ โดยให้สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรวบรวมและประมวลผลภาพ รวมทั้งประเทศในการดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนถึงวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ศาลแขวงทั่วประเทศเปิดทำการในช่วงวันหยุด ซึ่งนายรัชต์เทพ ดีประหลาด ผอ.สำนักงานบริหารกิจการสำนักงานอัยการสูงสุด และ นางณฐนน แก้วกระจ่าง ผอ.สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ดำเนินการรวบรวม วิเคราะห์แล้วปรากฏผลดังนี้

1. สำหรับภาพรวมทั้งประเทศมีการกระทำผิด ฝ่าฝืนพระราชกำหนดดังกล่าว ทั้งสิ้น 438 คดี จำเลยที่กระทำความผิดและถูกดำเนินคดีจำนวน 623 ราย

2. ทุกคดีพนักงานอัยการได้มีคำขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก ซึ่งศาลได้ใช้ดุลพินิจ ลงโทษจำเลยตามคำขอของพนักงานอัยการ เช่น คดีที่พนักงานอัยการฟ้องต่อศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา ลงโทษผู้จำคุก 2-4 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ (ข้อหามั่วสุม) และคดีที่ศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานี ให้จำคุก 15 วัน แต่เปลี่ยนโทษเป็นกักขังแทน 15 วัน เป็นต้น

3. คดีที่มีการฝ่าฝืนมากที่สุด ได้แก่ การออกนอกเคหสถาน โดยอายุที่กระทำผิดมากที่สุด คือ อายุ 20-35 ปี รองลงมาคือ อายุ 35-55 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่กระทรวงสาธารณสุขให้ระมัดระวังในการแพร่เชื้อ

จังหวัดที่มีสถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สูง เช่น กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี จ.ชลบุรี และ จ.เชียงใหม่ มีจำนวนสถิติคดีและผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯสูง ซึ่งอัยการสูงสุดกำชับให้พนักงานอัยการทั่วประเทศบังคับใช้กฎหมายอย่างรวดเร็วและเฉียบขาดต่อไป ตนจึงอยากเตือนประชาชนให้เคารพกฎหมาย เพราะเจ้าพนักงานจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเด็ดขาดในทุกข้อหาความผิด และจะขอให้ศาลลงโทษสถานหนักในทุกข้อหาเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังรัฐบาลได้ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 1 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา และ อัยการสูงสุด ได้มีหนังสือ ที่ อส 0006(นย)/ว 137 แจ้งคำสั่ง มาตรการและแนวปฏิบัติให้แก่บุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เพื่อให้ดำเนินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพกับ ผู้ทำการกักตุนสินค้าอุปโภค บริโภค และจำหน่ายสินค้าเกินราคาควบคุม เช่น หน้ากากอนามัย ไข่ไก่ หรือสินค้าจำเป็นในครัวเรือน เป็นต้น การฉ้อโกง หรือ หลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการส่งข้อความอันเป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกอบข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 1) พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยถือว่า การกระทำดังกล่าวนอกจากเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ยังส่งผลให้มาตรการที่รัฐบาลกำหนดให้ประชาชนปฏิบัติเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะต้องพิจารณาดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด รวดเร็ว เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษตามกฎหมาย โดยให้ใช้ดุลพินิจสั่งคดีและบรรยายฟ้อง เพื่อให้ศาลลงโทษในสถานหนัก และ ไม่รอการลงโทษ สอดคล้องกับการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะหยุดการแพร่ระบาดและป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้โดยเร็วและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น