ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง 14 กกต.ในชั้นตรวจฟ้อง คดี “ธนาธร-พรรคอนาคตใหม่” ฟ้องกล่าวหาทำสำนวนยุบพรรคอนาคตใหม่ ศาลชี้ กกต.ทำตามอำนาจหน้าที่และกฎหมาย
วันนี้ (2 เม.ย.) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลนัดคำสั่งคำพิพากษาชั้นตรวจคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ อท.185/2562 ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกันเป็นโจทก์ที่ 1-2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเกรียงศักดิ์ ม่วงอ่อน ประธานคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนคดียุบพรรค อนค., นายนิยต ดำรงประภักดิ์, นายสุชาติ เพชรอาวุธ ทั้งสองเป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน, พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต., นางสุกัญญา รัตนนาคินทร์, พล.ท.สมชาย ชัยวณิชยา, พ.ต.อ.ชนะชัย ลิ้มประเสริฐ ทั้งสามเป็นคณะอนุกรรมการวินิจฉัย, นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต., นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์, นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย, นายฉัตรชัย จันทร์พรายศรี, นายปกรณ์ มหรรณพ, นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ, นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ทั้งเจ็ดเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นจำเลยที่ 1-14 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 69 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86 กรณีทำสำนวนคดียุบพรรคอนาคตใหม่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอน มีลักษณะเร่งรัดคดี
โดยโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 8 ก.ค. - 11 ธ.ค. 2562 คณะกรรมการ กกต.จำเลยที่ 8-14 ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 1-3 ให้เป็นประธานกับคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน เพื่อรวบรวมหลักฐานและแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีมีผู้ร้องกล่าวหานายธนาธร หัวหน้าพรรคและพรรคอนาคตใหม่ โจทก์ที่ 1-2 ว่ากระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองหรือไม่ โดยอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ให้พรรคอนาคตใหม่ โจทก์ที่ 2 กู้ยืมเงินจำนวน 191,200,000 บาท ซึ่งประธานและคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ จำเลยที่ 1-3 ทราบระเบียบแล้วแต่ไม่ได้กระทำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอน กลับร่วมกันทำรายงานการไต่สวนพร้อมทั้งสรุปสำนวนการสืบสวนและไต่สวนเสนอจำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณาทั้งที่ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหากับโจทก์ทั้งสอง จึงถือได้ว่ายังไม่มีการไต่สวนตามกฎหมายและเป็นการละเว้นการกระทำอันมิชอบ
ขณะที่เลขาธิการ กกต.จำเลยที่ 4 ก็ทราบดีอยู่แล้วว่ายังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่ไม่ได้ดำเนินการหรือสั่งการให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนดำเนินการแจ้งข้อกล่าวแก่โจทก์เพื่อให้กระบวนการเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ 4 ส่งสำนวนการสืบสวนและไต่สวนให้จำเลยที่ 5-7 ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการวินิจฉัย อันเป็นการเร่งรัดคดีกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองต่อไป ส่วนจำเลยที่ 5-7 ก็มีมติเห็นควรส่งเรื่องให้ศาลที่มีเขตอำนาจดำเนินการต่อไปและส่งสำนวนการสืบสวนและไต่สวนให้จำเลยที่ 8-14 ซึ่งเป็นคณะกรรมการ กกต.พิจารณาโดยไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน โดยหากจำเลยที่ 5-7 เห็นว่าสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนยังไม่ถูกต้องก็มีอำนาจส่งเรื่องกลับไปให้เลขาธิการ กกต.จำเลยที่ 4 ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 1-3 ดำเนินการ
ส่วนคณะกรรมการ กกต.จำเลยที่ 8-14 ก็ทราบอยู่แล้วว่าสำนวนการสืบสวนและไต่สวนยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับร่วมกันลงมติให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองตามสำนวนการสืบสวนและไต่สวนดังกล่าว โดยมีมติเสียงข้างมากให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ มติของจำนวนที่ 8-14 จึงเป็นผลมาจากการร่วมกันกระทำโดยจงใจละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองที่ถูกริดรอนสิทธิที่จะรับทราบข้อกล่าวหา, ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา, เสนอพยานหลักฐาน หรือต่อสู้คดีตามสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
โดยระหว่างชั้นตรวจคำฟ้อง (พิจารณาคำฟ้องที่บรรยายข้อกฎหมาย-พฤติการณ์-เอกสารประกองฟ้อง) นั้น ศาลมีหนังสือลงวันที่ 6 ม.ค. 2563 ถึงสำนักงาน กกต. ให้มีหนังสือชี้แจ้งข้อเท็จจริงต่อศาลเพื่อพิจารณาประกอบด้วย
ขณะที่ศาลพิจารณาเอกสารตามฟ้อง-ข้อเท็จจริงที่มีชี้แจง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว แล้วเห็นว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน เพื่อรวบรวมหลักฐานและแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีมีผู้ร้องกล่าวหานายธนาธร อดีตหัวหน้าพรรค และพรรค อนค.เกี่ยวกับเงินกู้ยิม เป็นการแต่งตั้งไปตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560, ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน การวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และคณะอนุกรรมการวินิจฉัย ได้ทำความเห็นเสนอ กกต.พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ โดยการพิจารณาเรื่องที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค อนค. โจทก์ที่ 2 เริ่มวันที่ 26 พ.ย. 2562 ที่จำเลยที่ 8-14 มีมติในที่ประชุมว่าเพื่อให้การดำเนินการต่อกรณีที่กล่าวหาว่ามีกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้เลขาธิการ กกต.จำเลยที่ 4 ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยในส่วนของอำนาจหน้าที่ กกต.จำเลยที่ 8-14 กรณีดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วในคดีที่มีการยื่นคำร้องยุบพรรค โจทก์ที่ 2 ว่าชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพัน รัฐสภา, คณะรัฐมนตรี, ศาล, องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 211 การกระทำของจำเลยทั้ง 14 คน จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง