ปธ.ศาลฎีกา ออกระเบียบแล้วศาลชั้นต้นเลื่อนคดี มี.ค.- พ.ค.ได้ ด้าน “เลขาฯ ศาลยุติธรรม” วางแนวทาง จนท.สำนักงานทำงานที่บ้าน work from home ลดความเสี่ยงไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19”
วันนี้ (24 มี.ค.) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) มีมติให้ศาลชั้นต้นพิจารณาเลื่อนวันนัดพิจารณาที่กำหนดระหว่างวันที่ 24 มี.ค.- 31 พ.ค.นี้ โดยให้กำหนดนัดใหม่ที่เหมาะสมได้ ช่วงสถานกาณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVIID-19) นั้น ล่าสุด นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้ลงนามออกเป็นประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมเรื่องการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) เพื่อจะใช้เป็นแนวปฏิบัติของศาลชั้นต้นทั่วประเทศแล้ว
ขณะที่ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรม วันนี้ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ประชุมวางแนวทางการบริหารงานบุคลากรในหน่วยงานสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมช่วงสถานการณ์นี้ ซึ่งกำลังพิจารณาการให้บุคลากร สังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมทำงานที่บ้านลักษณะ work from home ได้ โดยจะต้องไม่กระทบประสิทธิภาพการทำงานและจะต้องทำงานได้อย่างต่อเนื่องซึ่งแนวทางนี้ที่ประชุม ก.บ.ศ.ได้รับทราบตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา
และจากมติ ก.บ.ศ.ที่ผ่านให้ศาลชั้นต้นเลื่อนวันนัดพิจารณาคดีได้ช่วงนี้เพื่อเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรคนั้น นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ออกหนังสือเวียน ถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ลงวันที่ 23 มี.ค. 2563 เรื่องซักซ้อมการนำนวัตกรรมมาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยว่า ขณะนี้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในปัจจุบันมีระยะของการระบาดอยู่ในระยะที่ 2 โดยทุกภาคส่วนล้วนต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมหรือแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำไปสู่การบริหารงานของทุกหน่วยงานในสังกัดของตนให้ดำเนินต่อไปได้
สำนักงานศาลยุติธรรมพิจารณาแล้ว เห็นว่า ในสภาวการณ์เช่นนี้ ขอให้หน่วยงานในสังกัด นำนวัตกรรมที่สำนักงานศาลยุติธรรมเคยกำหนดให้นำไปปฏิบัติแล้ว มาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังและเคร่งครัด เพื่อเป็นการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดอีกทางหนึ่ง ทำให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีไม่จำเป็นต้องเดินทางมาศาล ลดโอกาสการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างกัน ซึ่งจะสุ่มเสี่ยงที่สุดในการแพร่เชื้อโรคไข้หวัดนี้
ทั้งนี้ นวัตกรรมสำคัญๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ดังกล่าวมีดังนี้ 1. ระบบการยื่นส่ง-รับคำคู่ความและเอกสาร ทางอิเล็กทรอนิกส์ e-Filing ที่เป็นระบบบริการได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง และขอคัดถ่ายเอกสารต่างๆ ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการลดการเดินทางมายังศาล
2. การขอจัดตั้งผู้จัดการมรดกข้ามเขต และไต่สวนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (VDO Conference) โดยการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก สามารถยื่นต่อพนักงานอัยการ ณ สำนักงานอัยการฯ ได้ทุกจังหวัดโดยไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องที่ศาลที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและไต่สวนผ่าน VD0Conference ซึ่งเป็นการลดการเดินทางระหว่างจังหวัดพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ
3. การจ่ายคืนเงินในคดีให้แก่คู่ความผ่านระบบ Corporate Banking การจ่ายคืนเงินค่าธรรมเนียมศาลเงินกลางและเงินค่าปรับในคดีให้แก่คู่ความผ่านระบบ Corporate Banking คู่ความจะได้รับเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ทันที และมี SMS แจ้งเตือน ซึ่งมีข้อดีกว่าวิธีการคืนเงินคู่ความโดยจ่ายเช็ค หรือจ่ายเป็นเงินสด เพราะคู่ความไม่ต้องเดินทางมาศาลเพื่อรับเช็คและนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารเป็นการลดขั้นตอนลดการเดินทางและลดความเสี่ยง
4. การขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนคดีและการขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดผ่านระบบ CIOS โดยคู่ความสามารถขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนคดีและสามารถเลือกรูปแบบการขอรับสำเนาเอกสารโดยศาลจะจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ หรือส่งไฟล์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามความประสงค์ ส่วนการขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดศาลจะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์โดยสามารถยื่นคำร้องขอผ่านระบบบริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม (CIOS) โดยไม่ต้องเดินทางมาศาลที่ https://cios.coj.go.th
5. การขอคัดถ่ายคำพิพากษาระหว่างศาลยุติธรรมทั่วประเทศ โดยคู่ความสามารถเดินทางไปยื่นคำร้องยังศาลที่ใกล้และสะดวกที่สุดเพื่อขอคัดถ่ายคำพิพากษาระหว่างศาลยุติธรรมได้ทุกศาลทั่วประเทศ 6. การคัดถ่ายคำพิพากษาด้วยเครื่องอัตโนมัติด้วยตนเอง โดยคู่ความที่เดินทางมาศาลสามารถตรวจสอบและคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาได้ด้วยตนเองผ่านโปรแกรมที่ติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องระบบสัมผัส (KIOSK) ของศาลโดยไม่ต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่
7. ระบบการส่งเอกสารและการประกาศนัดไต่สวนโดยวิธีการลงโฆษณาทางสื่อเทคโนโลยีหรือ e-Notice System โดยพนักงานอัยการคู่ความและประชาชนสามารถดูประกาศนัดไต่สวนของศาลและประกาศให้รับเอกสารท้ายฟ้องคืนเมื่อเสร็จคดีได้ทางเครื่องคอมพิวเตอร์ PC และเครื่องมือสื่อสารระบบ Smart phone โดยไม่ต้องลงทะเบียนไม่ต้องเดินทางมาศาลซึ่งการเข้าใช้งานเป็นไปโดยง่ายด้วยการค้นหาผ่าน google โดยระบุคำค้นหาว่า;“ประกาศนัดไต่สวน” หรือ “ระบบ e-Notice System” เป็นต้น
8. ระบบติดตามสำนวนคดี หรือ Tracking System โดยพนักงานอัยการคู่ความและประชาชนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสำนวนคดีและข้อมูลคดีเบื้องต้นประกอบด้วย วันที่รับฟ้อง, วันนัดพิจารณาคดี, ผลการส่งหมาย, วันที่ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์/ฎีกา, วันที่ยื่นอุทธรณ์/ฎีกา, วันที่ส่งศาลอุทธรณ์/ฎีกา, วันที่อ่านอุทธรณ์/ฎีกา, วันนัดฟังคำพิพากษา, ผลคำพิพากษาโดยไม่ต้องลงทะเบียนและไม่ต้องเดินทางมาศาลซึ่งการเข้าใช้งานเป็นไปโดยง่ายด้วยการค้นหาผ่าน google โดยระบุคำค้นหาว่า “ติดตามสำนวนคดี Tracking System ศาล”
9. การอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นคู่ความไม่ต้องเดินทางมาฟังคำพิพากษาคดีแพ่งในวันนัด โดยให้เจ้าหน้าที่ทำการส่งไฟล์คำพิพากษาได้อย่างช้า 10 วันทำการหลังจากวันอ่านคำพิพากษาผ่านระบบ CIOS และคู่ความสามารถขอคัดถ่ายคำพิพากษาผ่านระบบ CIOS
10. การไกล่เกลี่ยออนไลน์คู่ความ สามารถใช้ช่องทางในการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องหรือคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว ผ่านระบบออนไลน์ได้หลากหลายช่องทาง เช่น Line , VDO Conference เป็นต้น
11. สารบบความอิเล็กทรอนิกส์โปรแกรมจัดเก็บสำนวนคดีอิเล็กทรอนิกส์ (Scan master) เป็นโปรแกรมที่จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของศาล และการให้บริการออนไลน์แก่ประชาชนโดยเป็นโปรแกรมที่สนับสนุนการดำเนินงานของระบบอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเช่นระบบบริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม (CIOS) เป็นต้น
12. การผัดฟ้องฝากขังผู้ต้องหา ผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ นอกจากจะเป็นการลดการเดินทางมาศาลของผู้ต้องขังและผู้ควบคุมตลอดจนเป็นการป้องกันรักษาความปลอดภัยแล้ว ยังสามารถลดโอกาสการรวมกลุ่มกันของบุคคลจำนวนมากในพื้นที่จำกัดอันเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แก่บุคคลเหล่านั้น รวมถึงข้าราชการศาลยุติธรรมและผู้พิพากษาซึ่งเข้าไปปฏิบัติงานในขั้นตอนการดำเนินการพิจารณาในชั้นผัดฟ้องฝากขังด้วย ในสถานการณ์เช่นนี้นับว่ามีเหตุอย่างอื่นที่น่ากลัวว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นซึ่งต้องด้วยข้อยกเว้นของข้อ 3 แห่ง ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการสอบถามผู้ต้องหาหรือทำการไต่สวนพยานหลักฐานในการออกหมายขังผู้ต้องหาในลักษณะการประชุมทางจอภาพ พ.ศ. 2556 หากผู้ต้องหาไม่ได้คัดค้านศาลอาจจะมีคำสั่งให้สอบผู้ต้องหาผ่านระบบการประชุมทางจอภาพในการยื่นคำร้องขอหมายขังผู้ต้องหาครั้งแรกก็ได้ โดยใช้วิธีปฏิบัติในทางธุรการตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการสอบถามผู้ต้องหาหรือทำการไต่สวนพยานหลักฐานในการออกหมายขังผู้ต้องหาในลักษณะการประชุมทางจอภาพ พ.ศ.2556 ข้อ 1 มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมและประชาชนเป็นประการสำคัญ
13. การออกหมายจับผ่านระบบฐานข้อมูลหมายจับ (AWIS) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 59 วรรคสาม, ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ.2548 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2561, ประกาศสำนักงานศาลยุติธรรมเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานเกี่ยวกับหมายจับผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันหากมีการนำวิธีการไต่สวนคำร้องขอออกหมายจับผ่านระบบการประชุมทางจอภาพมาปรับใช้ น่าจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยมีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ดำเนินการดังกล่าวจนประสบความสำเร็จแล้ว ทั้งนี้ศาลที่สนใจสามารถศึกษาแนวทางการดำเนินการด้วยการสแกน QR-code ท้ายหนังสือฉบับนี้
ในการนี้เพื่อเป็นช่องทางในการประสานงานและรับฟังปัญหาข้อขัดข้องของศาลยุติธรรมทั่วประเทศ จึงขอเชิญชวนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมโอเพนแชท ด้วยการสแกน QR-code
นายสุริยัณห์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า คู่ความ-ทนายความ-ประชาชนที่ติดต่อราชการคดีของศาลนั้น สามารถที่จะดาวน์โหลด Application ตัวใหม่ ชื่อ “COJ APP” ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้เริ่มเผยแพร่ไปล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มี.ค.โดยสามารถดาวน์โหลด App ดังกล่าวได้ฟรีทั้งระบบ iOS (iOS : shorturl.at/cdvxA หรือเปิด App Store ค้นชื่อ “cojapp”) และระบบ Android (Android : shorturl.at/cyEM0 หรือเปิด Play Store ค้นชื่อ “cojapp”) โดยบริการข้อมูลคดีผ่าน App นี้ จะช่วยลดการเดินทางมาศาลในสถานการณ์เช่นนี้ที่จะหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรคได้อีกทางหนึ่ง
ในวันเดียวกัน นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังได้ประกาศด่วนที่สุดถึงแนวทางปฏิบัติการลงเวลาปฏิบัติราชการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แก่หน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ว่า ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้กำหนดแนวทางการลงเวลาการปฏิบัติราชการด้วยลายนิ้วมือและโปรแกรมข้อมูลวันลาบุคลากรมาใช้ในการปฏิบัติราชการของสำนักงานศาลยุติธรรม แทนการจัดทำบัญชีลงเวลาปฏิบัติราชการของข้าราชการศาลยุติธรรม พนักงานราชการศาลยุติธรรม และลูกจ้าง ด้วยการลงลายมือชื่อ ตั้งแต่เดือนเม.ย.2556 เป็นต้นมานั้น เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีแนวโน้มที่จะระบาดในวงกว้างขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้ขยายวงกว้าง และความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของบุคลากรในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม และให้การปฏิบัติงานมีความยืดหยุ่นคล่องตัวมีประสิทธิภาพ สำนักงานศาลยุติธรรมจึงให้ผ่อนผันการลงเวลาการปฏิบัติราชการด้วยลายนิ้วมือในระบบฯ ช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ให้ผู้อำนวยการทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมตรวจสอบการลงเวลาปฏิบัติราชการและเวลาปฏิบัติราชการ ให้เป็นไปตามจำเป็นและเหมาะสมโดยให้มีการจัดทำหลักฐานไว้เพื่อให้ตรวจสอบได้ในภายหลังด้วย จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติต่อไป