ก.บ.ศ.มีมติเลื่อนนัดพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม ตั้งเเต่วันที่ 24 มี.ค.-31 พ.ค.นี้ ยกเว้นคดีที่จำเลยถูกคุมขัง สืบประกอบคำรับสารภาพ คดีเเพ่งเกี่ยวกับจัดการทรัพย์มรดก หรือ ขอให้สั่งเป็นบุคคลสาปสูญ เเต่หากจำเป็นไม่ปลอดภัยโควิด-19 ให้อธิบดีศาล-หัวหน้าศาลอนุญาตใช้ดุลพินิจเลื่อนได้
วันนี้ (23 มี.ค.) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 09.30 น ที่ห้องประชุมอาคารศาลยุติธรรม ตั้งอยู่ศาลฎีกา นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ ก.บ.ศ.ครั้งที่ 3/2563 มีวาระที่น่าสนใจ คือเรื่อง การบริหารจัดการศาลในภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 (วาระเพิ่มเติม) โดย ก.บ.ศ.มีมติ เห็นชอบให้ออกประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirs Disease : COVID-19) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
กรณีที่ 1 การเลื่อนวันนัดคดีจัดการพิเศษ
1.ให้ศาลชั้นต้นทุกศาลเลื่อนนัดพิจารณาคดีจัดการพิเศษทุกคดีที่นัดไว้ในระหว่างวันที่ 24 มี.ค.-31 พ.ค.2563 โดยกำหนดวันนัดใหม่ในเวลาที่เหมาะสม ยกเว้นคดีดังต่อไปนี้
1.1 คดีอาญา เช่น นัดสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่จำเลยต้องขัง เป็นต้น
1.2 คดีแพ่ง เช่น คดีร้องขอจัดการมรดก คดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นผู้สาบสูญ คดีร้องขอเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หรือขออนุญาตทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ เป็นต้น
1.3 คดีอื่นๆ ที่เจ้าของสำนวนและองค์คณะพิจารณาเห็นว่าสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้โดยไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง และหากเลื่อนคดีไปอาจทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่ความ
ทั้งนี้ ตามข้อ 1.1-1.3 ให้คำนึงถึงจำนวนคดี จำนวนคู่ความในห้องพิจารณาและจำนวนบุคคลที่จะต้องมารวมกันที่ศาล และหากมีความจำเป็นไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาโดยปลอดภัยแก่ทุกฝ่ายก็อาจใช้ดุลพินิจให้เลื่อนคดีไปได้
2.การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าว ให้ถือปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Corona Disease : COVID - 19) (ฉบับที่ 2)
กรณีที่ 2 การเลื่อนนัดพิจารณาคดีต่อเนื่อง
1.ให้ศาลชั้นต้นทุกศาลเลื่อนนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องทุกคดีที่นัดไว้ในระหว่างวันที่ 24 มี.ค.-31 พ.ค.2563 โดยกำหนดวันนัดใหม่ในเวลาที่เหมาะสม ยกเว้นคดีดังต่อไปนี้
1.1คดีอาญาที่จำเลยต้องขังระหว่างพิจารณาคดี
1.2 คดีอื่นๆที่คู่ความพร้อมและต้องการจะสืบพยาน หรือคดีที่เจ้าของสำนวนและองค์คณะพิจารณาเห็นว่าสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้โดยไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง และหากเลื่อนคดีไปอาจทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่ความ
ทั้งนี้ ตามข้อ1.1และข้อ 1.2 ให้คำนึงถึงจำนวนคดี จำนวนคู่ความในห้องพิจารณา และจำนวนบุคคลที่จะต้องมารวมกันที่ศาล และหากมีความจำเป็นไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาโดยปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย ก็อาจใช้ดุลพินิจให้เลื่อนคดีไปได้ โดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบราชการศาล แล้วแต่กรณี
2.การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าว ให้ถือปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(Coronavirus Disease : COVID - 19)
ด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากที่ ก.บ.ศ.มีมติจากการประชุมออกมาแล้ว ในวันนี้สำนักงานศาลยุติธรรม ก็ได้ดำเนินการร่างระเบียบ ก.บ.ศ.เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เสนอประธานศาลฎีกา พิจารณาและลงนาม เพื่อเผยแพร่แนวทางปฏิบัติของศาลยุติธรรมทั่วประเทศต่อไป
เเหล่งข่าวผู้พิพากษาศาลฎีกาได้เผยถึงกรณีวันที่ 25 มี.ค.นี้ ที่จะมีการประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 3 อาคารศาลฎีกาว่าการประชุมดังกล่าวจะเลื่อนออกไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายไสลเกษ ประธานศาลฎีกาว่าจะมีคำสั่งอย่างไร เเต่ก็มีผู้พิพากษาศาลฎีกาบางส่วนยังกังวลเพราะในการประชุมใหญ่จะประกอบไปด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกา กว่า175 คน เเละยังมีผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาเเละเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งการประชุมใหญ่ศาลฎีกายังมีกำหนดนัดเดิมไว้อยู่
อย่างก่อนก็ตามหน้านี้ คณะทำงานบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในศาลยุติธรรมได้กำหนดแนวทางการประชุมใหญ่ในศาลสูง ดังนี้ 1.ให้พิจารณาจัดประชุมเฉพาะเรื่องจำเป็นเท่านั้น โดยให้มีระบบขัดกรองผู้เข้าร่วมประชุม ผู้ที่มีไข้ไม่สบายห้ามเข้าร่วมประชุม พร้อมสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เข้าร่วมประชุม 2.พิจารณาเฉพาะผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้นเข้าประชุมพร้อมจัดให้นั่งระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร 3.ใช้เทคโนโลยีสาระสนเทศช่วยลดความแออัดของห้องประชุมแต่ยังต้องคำนึงถึงมาตรการรักษาความลับ