xs
xsm
sm
md
lg

ก.ต.ยุติสอบวินัย ภายหลังผู้พิพากษา “คณากร” ยิงตัวเองดับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ก.ต.ยุติสอบวินัยผู้พิพากษา คณากร เลขาฯ ศาลยุติธรรม เผยเมื่อเสียชีวิต ปธ.ศาลฎีกาก็สั่งยุติการสอบสวน ส่วนข้อหาอาวุธปืน ระงับตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39

วันนี้ (18 มี.ค.) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการยุติดำเนินการสอบสวนการรักษาวินัยผู้พิพากษา กรณีของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ช่วยราชการกองผู้ช่วยในศาลอุทธรณ์ภาค 5 (ภาคเหนือ) จ.เชียงใหม่ ใช้อาวุธปืนพกสั้นยิงตัวเองครั้งแรกจนได้รับบาดเจ็บภายในห้องพิจารณาคดี ศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 หลังเสร็จสิ้นการพิพากษายกฟ้องคดีฆาตกรรม ซึ่งมีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก และช่วงเกิดเหตุแล้วมีเอกสารจำนวน 25 หน้าออกมาเผยแพร่ อ้างเป็นแถลงการณ์ของนายคณากร แสดงความอึดอัดใจอ้างรู้สึกกดดันในการทำหน้าที่พิจารณาคดีจากผู้บังคับบัญชาต่อการตรวจสำนวนร่างคำพิพากษาว่า หลังจากเมื่อปลายปี 2562 คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติให้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นกรณีเป็นที่สงสัยว่ามีพฤติการณ์กระทำผิดวินัยหรือไม่แล้ว แต่เมื่อปรากฏเหตุในภายหลังที่ผู้พิพากษาคณากรได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2563 ตนในฐานะเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้รายงานให้นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาทราบตามขั้นตอนกรณีข้าราชการตุลาการนั้น พ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 พร้อมเสนอการยุติสอบสวนเรื่องดังกล่าว ซึ่งประธานศาลฎีกา พิจารณาแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้ยุติการสอบสวนกรณีผู้พิพากษาคณากร

ส่วนคดีอาญา ที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา ได้เคยขออนุญาตประธานศาลฎีกาดำเนินคดีผู้พิพากษาคณากร ตามความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 นั้น เมื่อเสียชีวิต สิทธิการดำเนินคดีอาญาก็เป็นอันระงับ ยุติไปตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 39 (1)

เมื่อถามถึงว่ามีการแทรกแซงในกระบวนการตรวจสำนวนร่างคำพิพากษาก่อนการพิพากษาคดีหรือไม่

นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาภายหลังการตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว ก.ต.มีมติเห็นว่าไม่มีมูล การกระทำในส่วนของอธิบดีผู้พากษาภาค 9 จึงไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบตรวจร่างคำพิพากษาของภาค ที่ควรพิจารณาว่าแนวทางวิธีการนั้นมีปัญหาต้องปรับหรือแก้จุดใดหรือไม่ จึงตั้งผู้พิพากษาที่เป็น ก.ต. และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมหรือ ก.บ.ศ. (ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการออกระเบียบ-กฎหมายสนับสนุนการทำหน้าที่ศาลยุติธรรม) รวม 3 คน เป็นคณะอนุกรรมการศึกษาและพัฒนาหลักเกณฑ์แนวทางวิธีการตรวจร่างคำพิพากษาของภาค โดยกระบวนการศึกษานั้นใกล้จะเสร็จสิ้นแล้วภายในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะสรุปผลเสนอ ก.ต.ได้ทันในการประชุม ก.ต.ในวันที่ 7 เม.ย. 2563
กำลังโหลดความคิดเห็น