“ปธ.ศาลฎีกา” ยกระดับคุ้มครองผู้พิพากษา เสนอโครงการนำร่อง ติดกล้องวงจรปิดบ้านพักผู้พิพากษากลุ่มเสี่ยง เน้นดูแลความปลอดภัยเข้มงวด ลั่นไม่มีใครมาขู่ศาลได้
วันนี้ (10 มี.ค.) นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้พิพากษาศาลยุติธรรมในพื้นที่ภาค 8 ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยจากกรณีที่มีเหตุความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ในการทำหน้าที่พิจารณาคดีในส่วนของบ้านพักข้าราชการตุลาการเท่าที่ควร ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการจัดเจ้าหน้าที่ รปภ.ไปรักษาความปลอดภัย แต่มาช่วง 1-2 ปีหลังนั้น ปรากฏว่า มีการตัดงบส่วนนี้ออกไป ซึ่งสร้างกังวล เนื่องจากปรากฏว่าเคยมีคนแปลกหน้าเข้าไปในบริเวณที่พักดังกล่าว จึงเสนอควรติดกล้องวงจรปิดหรือสัญญาณกันขโมย ว่า ตนเห็นด้วยในเรื่องกล้องวงจรปิด แต่ถ้าเป็นเรื่องงบประมาณที่ได้สนับสนุนมานั้น ยังไม่เพียงพอ จะเสนอให้ทำเป็นโครงการนำร่องแล้วค่อยขยายผลไปเรื่อยๆ เราควรจะเริ่มต้นติดตั้งปีนี้ ทำได้เท่าไหร่ให้ทำไปก่อน หลังจากนั้น จึงค่อยเริ่มทำโครงการระยะยาวให้ทั่วถึง อย่างน้อยสุดตอนนี้ก็ต้องสร้างความมั่นใจ เพราะเวลาคนร้ายจะลงมือจะไม่มาครั้งเดียวแล้วลงมือ คนร้ายจะมาดูสถานที่ก่อน แต่ถ้าเรามีกล้องวงจรปิด แม้คนร้ายจะทำการบ้าน แต่เราก็มีโอกาสตรวจพบร่องรอย และระมัดระวังมากขึ้น ตนขอเสนอไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมให้ช่วยทำโครงการนำร่อง ปีนี้ทำได้แค่ไหนให้เริ่มลงมือทำไปก่อนอาจจะเลือกศาลที่มีความเสี่ยงสูง เพราะเดี๋ยวนี้เหตุความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะข้างนอกอีกเเล้ว แต่กำลังเกิดขึ้นในบ้านของเราเอง เราเป็นผู้พิพากษาที่มีหน้าที่ตัดสินคดีสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนด้วยสันติวิธี
“สถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นภัยคุกคามการใช้อำนาจของผู้พิพากษาในกรณีที่ทำหน้าที่พิจารณาคดี บอกให้รู้ว่าเราต้องทำงานอย่างมืออาชีพ และเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ใครก็ตามที่มาขู่ศาลภายใต้การกำกับดูแลของตนจะทำไม่ได้ เพราะถ้าเมื่อไหร่ผู้พิพากษาเกิดความหวาดกลัวหวั่นไหวต่อการทำหน้าที่ เราจะอยู่ไม่ได้ เราต้องทำงานด้วยความกล้าหาญ ระบบเราต้องอำนวยให้เกิดความปลอดภัย” ประธานศาลฎีกา กล่าว
ด้าน นายภพ เอครพานิช รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า สำหรับงบประมาณในการจ้าง รปภ.จากองค์การทหารผ่านศึกมารักษาความปลอดภัย ก็จะเน้นในส่วนอาคารศาล แต่ในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรมโดยดำริของ นายไสลเกษ ประธานศาลฎีกา ก็ได้เน้นในเรื่องรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีการแปรญัติเพิ่มเติมเราก็ได้รับงบประมาณ การรักษาความปลอดภัยในส่วนนี้เพิ่มมาบางส่วน แต่เราก็ต้องมาจัดสรรด้วย ในเรื่องระบบกล้องวงจรปิดที่เราของบประมาณมา 900 ล้าน จะมีทั้งเรื่อง รปภ.และกล้องวงจรปิด แต่ส่วนนี้ยังไปไม่ถึงบ้านพักผู้พิพากษา เนื่องจากรัฐบาล หรือสำนักงบประมาณ มองว่า ควรให้เน้นไปที่อาคารสถานที่ทำการศาลก่อน ซึ่งเราก็พยายามอธิบายในเรื่องความปลอดภัยของผู้พิพากษา อีกทั้งในส่วนงบที่แปรญัติมาก็จะต้องถูกนำไปใช้ในเรื่องอัตรากำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาลที่ตอนนี้มี 35 คน แต่ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เราจะรับโอนเพิ่มอีก 63 คน และบรรจุใหม่อีก 209 อัตรา ก็จะต้องมีเรื่องการฝึกอบรมเข้ามาอีก เเต่หากเมื่อมีการฝึกอบรมเสร็จก็จะมีการกระจายกำลังไปไว้ตามภาค ตรงนี้เจ้าพนักงานตำรวจศาลจะเป็นหน่วยงานสนับสนุน หรือดูแลเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกว่า รปภ.เดิมได้ เพราะเจ้าพนักงานตำรวจศาลอาจจะนั่งเป็นหัวหน้าทีมแต่ละภาคหรือเรียกว่าเข้าไปดูแลในระบบ