xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯศาลยุติธรรมห่วงความปลอดภัยผู้พิพากษา คดีฆ่าเสี่ยชูวงษ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
เลขาฯ ศาลยุติธรรม ยอมรับดูแลความปลอดภัยผู้พิพากษาไม่ทั่วถึง แต่ประสานตำรวจช่วยสืบสวนอย่างดีที่สุด จนจับกุมคนร้ายได้ เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอให้ประชาชนมั่นใจกระบวนการยุติธรรม ปราศจากการแทรกแซง



เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (24 ก.พ.) ที่ห้องประชุมชั้น 12 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้แถลงข่าวถึงกรณีที่ตำรวจกองปราบปรามจับกุม พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ จากการขยายผลกรณีอุ้มพี่ชายผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่เป็นเจ้าของสำนวนคดีโอนหุ้น นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง ว่า ขอขอบคุณทางตำรวจที่ทุ่มเทเรื่องนี้มา 20 วัน ในการติดตามดูแลความปลอดภัย น.ส.พนิดา (สงวนนามสกุล) ท่านเป็นผู้พิพากษาที่กล้าหาญ มีความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ และขอแสดงความเสียใจที่พี่ชายของท่านที่ถูกจับเป็นตัวประกันเสียชีวิต ก่อนหน้านี้ ทางตำรวจได้ขอศาลให้เป็นความลับ ไม่เผยแพร่ข่าว เนื่องจากห่วงชีวิตความปลอดภัยของตัวประกัน ซึ่งทางตำรวจได้รายงานความคืบหน้าให้ประธานศาลฎีกาทราบโดยตลอด ตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้คุ้มครองความเป็นอิสระ ความเป็นกลางของผู้พิพากษา รวมถึงรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ (ผู้พิพากษา) น.ส.พนิดา ทำได้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

นายสราวุธ กล่าวว่า ในอดีตเคยเกิดเหตุการณ์ผู้พิพากษาถูกยิงที่ จ.ปัตตานี และเหตุยิงที่ศาลจังหวัดพัทยา ศาลจังหวัดจันทบุรี เกิดเหตุกระทบความปลอดภัย จึงมีการผลักดันให้มีเจ้าพนักงานตำรวจศาล (คอร์ทมาแชล) แต่งตั้งชุดแรกที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว 35 คน จะขยายอัตราในเดือน เม.ย.นี้ ได้ 309 อัตรา เพื่อรักษาความปลอดภัยในศาลและคุ้มครองบุคลากรของศาล

นายสราวุธ ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนร้ายที่มาติดตามดักรอบริเวณหน้าศาล ว่า ปกติพี่ชายของ น.ส.พนิดา จะมารับท่านกลับบ้านที่หน้าศาล ช่วงเกิดเหตุคนร้ายนำตัวพี่ชายขึ้นรถไป จากนั้นได้ใช้โทรศัพท์ของพี่ชายโทร.เข้ามาข่มขู่ต่อรองคดี โดยพฤติกรรมการข่มขู่เท่าที่ทราบ ก่อนหน้านี้ มีการคุกคามเรื่อยมาตั้งแต่เริ่มรับคดีเมื่อปี 2561 ก็ไม่เคยมีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา ซึ่งก็ได้มีการรายงานให้ศาลทราบ ส่วนคนร้ายจะประสงค์ร้ายต่อตัวผู้พิพากษาโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องถามตัวผู้ต้องหา ซึ่งอยู่ในการควบคุมของตำรวจ ขณะที่เรื่องของสำนวนคดี ตนไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนและ ผบ.ตร. จะให้ข้อมูลดีกว่า กรณีผู้พิพากษาถูกข่มขู่คุกคามจะเกิดความไม่เป็นธรรมต่อคดี ทาง ผบ.ตร.ให้ความสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ผู้สื่อข่าวถามถึงการยืนยันการเสียชีวิตของพี่ชายผู้พิพากษา นายสราวุธ ระบุว่า มีหลักฐานในการเผาร่าง ตามที่ผู้ต้องหาชี้จุดทำลายซาก

เมื่อถามถึงการป้องกันเหตุกับผู้พิพากษารายอื่น นายสราวุธ กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานศาลฯ เราทำเต็มที่ในการจัดคอร์ทมาแชลดูแลผู้พิพากษา แต่ขณะนี้กำลังยังไม่เพียงพอ ใช้การประสานงานกระจายตามความจำเป็นเร่งด่วน อัตรา 35 นาย อยู่ส่วนกลาง ยังแบ่งประจำ 200 กว่าศาลทั่วประเทศไม่ได้ จึงส่งไปดูแลตามที่มีการร้องขอความจำเป็นเข้ามา และดูแลคดีที่มีความเสี่ยงชิงตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ส่วนผู้พิพากษาที่กำลังทำคดีฆ่านายชูวงษ์ที่ศาลอาญาพระโขนง เราก็ได้ดูแลเช่นกัน ทางสำนักงานศาลฯ ได้ส่งคอร์ทมาแชลไปประจำดูแลด้วย ผลัดเปลี่ยนกันครั้งละ 4 นาย ส่วนสภาพจิตใจของผู้พิพากษารายอื่นนั้น ท่านก็ไม่สบายใจ แต่สำนักงานศาลฯ ก็มีความมั่นใจที่จะดูแลเรื่องความปลอดภัย ยอมรับว่า เหตุนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการอุ้มลักพาเพื่อเรียกประโยชน์ในทางคดี

เมื่อถามว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ ขวัญและกำลังใจผู้พิพากษาทั่วประเทศเป็นอย่างไร นายสราวุธ กล่าวว่า เรื่องนี้เราได้ข้อมูลจากผู้พิพากษา ต้องการให้สำนักงานจัดการดูแลมาตรการต่างๆ ที่มองว่า เป็นภัยคุกคามในการปฏิบัติหน้าที่เรื่องความปลอดภัย ส่วนเรื่องสภาพจิตใจของ ท่านผู้พิพากษาผู้เสียหายจากเหตุการณ์นี้ ทางสำนักงานศาลฯก็พร้อมที่จะดูแลไม่ว่าจะเรื่องการทำงานเรื่องขวัญและกำลังใจ ขอเพียงติดต่อเข้ามาว่าประสงค์จะให้สำนักงานศาลฯดูแลอย่างไร เราจะระวังในเรื่องการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด เรื่องปัญหาทางสภาพจิตใจ ตรงนี้มีนโยบายจากคณะกรรมการตุลาการที่คอยดูแลเรื่องนี้ของผู้พิพากษาโดยเฉพาะ

เมื่อถามถึงในอนาคตมีความจำเป็นต้องมีสถานที่ปลอดภัย หรือ เซฟเฮาส์ เพื่อเก็บตัวผู้พิพากษาในการทำคำพิพากษาคดีผู้มีอิทธิพล หรือมีความซับซ้อนหรือไม่ และมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษเอาผิดกับผู้ข่มขู่ผู้พิพากษา เพราะกระทบกับความยุติธรรมหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราก็มีการดูแลความปลอดภัยอยู่แล้ว เช่น กรณีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรามีที่พักและจัดรถกันกระสุนให้ ส่วนคดีอาญาทั่วไปยังไม่เคยมีเรื่องการพิจารณาที่จะมีเซฟเฮาส์ แต่ในอนาคตก็อาจเป็นได้ที่จะให้มี ส่วนกฎหมายพิเศษลักษณะดังกล่าวไม่มี ที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องของกฎหมายอาญาที่มีใช้อยู่ ซึ่งหากการกระทำนั้นร้ายแรงต่อชีวิตก็จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289

เมื่อถามว่า การฝากขัง พ.ต.ท.บรรยิน และกลุ่มผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องในวันนี้ สำนักงานศาลฯ หรือ น.ส.พนิดา ในฐานะผู้เสียหายจะยื่นคัดค้านการประกันตัวจนถึงที่สุดหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาออกมาก่อเหตุร้ายอีก นายสราวุธ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับผู้เสียหายเอง สำนักงานศาลฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนดังกล่าว และที่ผ่านมา ผู้เสียหายก็ไม่เคยมอบอำนาจให้สำนักงานศาลฯ ดำเนินการแทนในเรื่องใดๆ อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาให้หรือไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา ก็เชื่อว่าศาลอาญาซึ่งรับผิดชอบอยู่ จะพิจารณาตามหลักความเป็นกลาง เป็นธรรม ปราศจากอคติ

เมื่อถามถึงผลกระทบต่อการเขียนคำพิพากษาที่กำหนดนัดอ่านวันที่ 20 มี.ค.นี้ และจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า การเขียนคำพิพากษาอยู่บนหลักความเป็นกลาง ไม่กลัวการข่มขู่ที่ทำให้เกิดอคติ ส่วนการเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษาและเลื่อนอ่านคำพิพากษาหรือไม่ เป็นเรื่องของศาลอาญากรุงเทพใต้ที่จะพิจารณา ที่ผ่านมายังไม่มีการเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษา

“ขอให้ทุกท่านมั่นใจได้ว่าการพิจารณาพิพากษาคดี ผู้พิพากษาทุกท่านจะยึดมั่นในหลักความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง ปราศจากการข่มขู่ แทรกแซงใดๆ ทั้งสิ้น” เลขาธิการศาลยุติธรรมยืนยัน


กำลังโหลดความคิดเห็น