รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ตอน ไล่บี้...คดีภาษีบุหรี่นอก ล่า 3 หมื่นล้าน สินบนนำจับ?
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 ก.พ. - 27 ก.พ.นี้มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ คดีภาษีบุหรี่นำเข้าของฟิลลิป มอร์ริส ที่ถูกนำมาเป็นประเด็นทางการเมืองอีกครั้ง แม้ว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาว่าบริษัทบุหรี่มีการสำแดงราคาไม่ถูกต้องทำให้ภาษีขาดไป 300 กว่าล้านบาท จึงปรับ 4 เท่าคิดเป็นเงิน 1,200 ล้านบาทไปเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา
แต่ทำไมคดีนี้จึงเป็นประเด็นที่ถูกนำมาอภิปรายไว้วางใจรัฐบาลอีกครั้ง มูลเหตุจูงใจและที่มาที่ไปของคดีนี้เป็นอย่างไร และใครกันคือผู้จุดประเด็นนี้ขึ้นมา ใครได้ใครเสียอะไร และใครควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายจะถูกตอบโต้ทางการค้ากว่า 17,800 ล้านบาทต่อปีจากประเทศฟิลิปปินส์
เป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบทางการเมืองอย่างยิ่ง
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2549 ผู้ริเริ่มจุดประเด็นให้มีการสอบสวนราคาและภาษีนำเข้าของฟิลลิป มอร์ริสก็คืออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนสิงหาคม 2549
และสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนายทนง พิทยะ ให้มีการตรวจสอบ ราคานำเข้าของผู้นำเข้าบุหรี่ โดยการเปรียบเทียบราคานำเข้าของฟิลลิป มอร์ริส กับราคานำเข้าของร้านค้าปลอดภาษี นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งมหากาพย์ข้อพิพาททั้งในและระหว่างประเทศยืดเยื้อยาวนานนับ 10 ปี และเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหลายสมัย
ในสมัยนั้นทุกคนต่างทราบดีว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามและเป็นกลไกสำคัญของนายกรัฐมนตรีในการจัดการปัญหาใหญ่หลายเรื่อง คดีภาษีบุหรี่จึงถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษ
และได้ตั้งคณะกรรมการนับร้อยคน เข้าทำการสอบสวนในคดีนี้โดยมีทางกรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และสำนักงานอัยการสูงสุดเข้าร่วม
หลังจากสืบสวนอยู่หลายปี ในปี 2552 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดีเอสไอขณะนั้นมีความเห็นควรดำเนินคดีกับบริษัทฟิลลิป มอร์ริส แต่หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาอัยการกลับมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
ด้วยเหตุผลเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ประกอบกับองค์การการค้าโลกก็วินิจฉัยให้ประเทศไทยแพ้คดีที่ WTO เหตุมาจากรัฐบาลไทยไม่มีเหตุผลพอที่จะปฏิเสธราคาของผู้นำเข้ารายนี้ที่นำสินค้ามาจากฟิลิปปินส์
เรื่องทั้งหมดควรจบลงเพียงเท่านี้ตามกระบวนการยุติธรรม
แต่เรื่องกลับไม่จบโดยง่ายเพราะในเดือนสิงหาคม 2554 นายธาริต เพ็งดิษฐ์อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษขณะนั้น เป็นผู้มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับมีความเห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการที่สั่งไม่ฟ้องบริษัทบุหรี่
โดยยังคงกล่าวหาว่ามีการสำแดงราคานำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อ หลีกเลี่ยงภาษีเสียหายกว่า 68,000 ล้านบาท
อะไรคือมูลเหตุจูงใจที่ทำให้นายธาริษฐ์เห็นแย้งต่ออัยการ ก็ต้องย้อนหลังก่อนการตัดสินใจของนายธาริตไปไม่กี่เดือน พรรคเพื่อไทยได้นำประเด็นคดีภาษีบุหรี่เป็นประเด็นสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์พยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือบริษัท ผู้อภิปรายในวันนั้น คนอภิปรายก็ไม่ใช่คนอื่นไกล คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้นำประเด็นเรื่องเดิมเมื่อปี 2554 กลับมาอธิบายอีกครั้งในปี 2563 แต่คราวนี้เป็นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ซึ่ง หลังการอภิปรายคราวนั้นยังมีคดีความฟ้องร้องกันระหว่างสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกพรรคเพื่อไทย อันเกี่ยวข้องจากคดีนี้อีกหลายปี
ไม่เพียงแต่ความสนิทสนมของนายธาริษฐ์กับพรรคเพื่อไทย และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เอาผิดกับฟิลลิป มอร์ริสเท่านั้น
ยังมีปมสำคัญ เป็นแรงจูงใจในการทำคดี
คือเงินรางวัลและสินบนนำจับ ตามพระราชบัญญัติศุลการฉบับเก่า ยังจะทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่รวมทั้งผู้ให้เบาะแสรวมกว่าร้อยคนมีโอกาสได้ส่วนแบ่งจากค่าปรับถึง 55% ของมูลค่า 68,000 ล้านบาทอีกด้วย นั้นหมายถึงเงินกว่า 37,000 ล้านบาทจะเข้ากระเป๋าของเจ้าหน้าที่ทุกคนโดยไม่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย
นี่จึงเป็นอีกแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้อัยการอาจต้องพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งศาลเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกคนได้เงินส่วนแบ่งนี้ด้วย
หากดูตามไทม์ไลน์ของคดีแล้วจึงไม่แปลกใจเลยที่พบว่าคดีนี้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายการเมืองโดยอดีตนายกฯ ทักษิณ หลังจากนั้นพรรคเพื่อไทยก็พยายามใช้เป็นประเด็นในการกดดันทุกรัฐบาลให้เดินหน้าฟ้องร้องบริษัท ทั้งที่มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ
จนนำมาซึ่งการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อประเทศไทยใน WTO ซึ่งประเทศไทยพ่ายแพ้มาแล้วถึงสี่ครั้ง และยังคงยืนยันไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO โดยฟ้องร้องและสั่งปรับบริษัทดังกล่าวต่อไป เพราะเรื่องได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไปแล้ว ไม่อาจแก้ไขได้ง่าย
คดีนี้ถูกนำมาเป็นหัวข้ออภิปรายไม่ไว้วางใจถึงสองครั้งโดยบุคคลเดิม คณะเดิม พรรคเดิม สะท้อนให้เห็นถึงแรงจูงใจ ทางการเมืองที่ต้องการใช้ประเด็นนี้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือไม่? นี่เป็นคำถามที่สังคมสงสัย
แต่ผู้เสียหายในวันนี้กลับเป็นประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับการตอบโต้ทางการค้าจากฟิลิปปินส์ประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนในมูลค่า กว่า 17,800 ล้านบาทต่อปี
และความเชื่อมั่นต่อระบบภาษีศุลกากร การค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากเป็นเช่นนี้จริงและเป็นความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชน
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ซึ่งมารับช่วงตอนนี้ จึงต้องรับเผือกร้อนจากสิ่งที่รัฐบาลก่อนได้สร้างไว้ แม้จะพยายามแก้ปัญหาแต่ดูเหมือนรัฐบาลเองจะอ่อนด้อยต่อการชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในรัฐบาล และยังกลัวต่อการกดดันของฝ่ายค้าน
ทั้งๆ ที่ปัญหาทั้งหมดเกิดเรื่องขึ้น โดยพรรคฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น
การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเอาชนะกันเป็นเรื่องปกติของระบบรัฐสภา พรรคการเมืองผู้มีเสียงข้างมากมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล และถูกตรวจสอบการทำงานโดยฝ่ายค้านได้เป็นปกติ แต่การใช้กลไกการเมืองกดดันแทรกแซงเพื่อเอาชนะ คะคานกันโดยที่ไม่ดูผลประโยชน์และความเสียหายที่ประเทศชาติได้รับนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
คดีนี้เริ่มต้นด้วยการเมือง ดังนั้นก็ขอให้ฝ่ายการเมืองแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นเพราะเมื่อเลยเถิดเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งในและระหว่างประเทศแล้วก็ยากที่จะถอยหลังกลับมาได้
และหวังว่าคดีนี้จะได้รับการชี้แจงอย่างชัดเจนจากผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้