MGR online - ศาลยุติธรรมจับมือ "5 ภาคีเครือข่าย" ตั้งคลินิกให้คำปรึกษาจิตสังคมผู้ต้องหา-จำเลยคดียาเสพติด แก้ปัญหากระทำผิดซ้ำ บำบัดฟื้นฟูสู่สังคม พร้อมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้แก่ผู้เสพยาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
วันนี้ (30 ม.ค.) ที่ห้องประชุมชั้นใหญ่ 12 สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม, นายดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายสุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติดในระบบศาล เพื่อลดโอกาสสำหรับผู้กระทำผิดไม่ร้ายแรงที่อาจจะแปรสภาพเป็นอาชญากร ลดการกระทำผิดซ้ำ, แก้ไข, บำบัด และฟื้นฟู ให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม โดยการลงนามครั้งนี้ มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ยึดหลักนิติธรรมในการปราบปราม ลงโทษผู้ผลิต - ผู้ค้า และยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม โดยเน้นการบูรณาการร่วมกันในการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อลดระดับปัญหายาเสพติดโดยเร็ว ซึ่งศาลยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จึงได้ดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมมาใช้ในศาลอาญาธนบุรี เป็นศาลแรกเมื่อปี 2552 โดยได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส. ต่อมาเมื่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาได้เยี่ยมชมคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในศาลอาญาธนบุรี และต้องการขยายไปยังศาลต่างๆ จึงเป็นที่มาของการริเริ่มทำโครงการต่อเนื่อง ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักปลัดกระทรวงยุติธรรม, สำนักปลัดกระทรวงสาธารณะสุข, สำนักงาน สสส. และสำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้ร่วมกันพัฒนาระบบให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวในระบบศาล เพื่อดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดียาเสพติด
นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า การดำเนินงานโดยความรับผิดชอบของศาล จะให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เข้าร่วมโครงการได้อยู่ในกระบวนการอย่างต่อเนื่อง และเป็นโครงการเชิงรุกที่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์การดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรกับประชาชน เป็นการให้คำปรึกษาแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือคดีที่มีอัตราโทษไม่ร้ายแรง หรือคดีอื่นตามที่อธิบดีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเห็นสมควรประกาศกำหนด เพื่อให้การพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดในระบบศาลเกิดประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
สำนักงานศาลยุติธรรมจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม เพื่อฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้แก่ผู้เสพยาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงจัดทำข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) เพื่อดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดียาเสพติดในระบบศาล โดยมีแนวทางในการดำเนินงานดังนี้
1.สำนักงานศาลยุติธรรม จะเป็นจุดศูนย์กลางในการขยายผลการดำเนินงานคลินิก โดยให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมไปยังศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีอาญา 2.ปรับปรุงและพัฒนาข้อกฎหมายเพื่อให้ศาลมีอำนาจในการจัดบริการคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติดในระบบศาล 3.ให้การส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงาน และการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ ตลอดจนการเผยแพร่องค์ความรู้แก่ศาลที่ประสงค์จะดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมตามความเหมาะสมภายใต้กรอบอัตรากำลังและงบประมาณที่เหมาะสม 4.สนับสนุนการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อใช้ในการประเมินผลการดำเนินงาน โดยให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อตรวจสอบผลการกระทำผิดซ้ำ นอกจากนี้สำนักงานศาลยุติธรรมจะเป็นหน่วยงานในการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมให้แก่สื่อมวลชนและสาธารณชนอีกด้วย
สำหรับการดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติดในระบบศาล มีเป้าหมายในการขยายการดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมให้ครอบคลุมการทำงานทั่วประเทศ โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานภายใน 3 ปี พ.ศ.2563 - 2565 เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในช่วงวิกฤติของชีวิต อันจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะสักขีพยาน กล่าวว่า คลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติด เป็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้กระทำความผิดในคดีที่มีโทษไม่ร้ายแรง ให้ได้รับคำปรึกษาด้านจิตสังคมและเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจภายใต้การกำกับของศาล โดยไม่ถูกส่งตัวเข้าไปในเรือนจำ เป็นการให้โอกาสกับจำเลยได้ดำเนินชีวิตอยู่กับครอบครัว และประกอบอาชีพได้อย่างปกติ พร้อมขยายความช่วยเหลือไปยังครอบครัว ส่งเสริมให้ไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำ และอาจส่งผลต่อการแก้ปัญหานักโทษล้นคุกได้อย่างยั่งยืน โดยคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมนี้ เป็นการปรับนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดแนวใหม่ตามแนวทางของสหประชาชาติ (UN) ที่ใช้มาตรการทดแทนสำหรับผู้กระทำผิดโดยที่ไม่ถูกส่งตัวเข้าไปในเรือนจำ หรือที่เรียกว่า Diversion ซึ่งนอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติแล้ว ยังเป็นการลดงบประมาณการดำเนินงานราชทัณฑ์ รวมถึงเป็นการลดปัญหาคนล้นคุกอีกด้วย
ทั้งนี้ในการดำเนินการระยะแรก ปี 2557 - 2562 พบการกระทำผิดซ้ำของผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล เฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.3 และในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ปี พ.ศ.2563 - 2565 สำนักงาน ป.ป.ส. และสำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งเป้าขยายการดำเนินงานคลินิกจิตสังคมไปยังศาล 75 แห่งทั่วประเทศ โดยคาดว่า ในปี 2565 จะสามารถดำเนินการกับผู้ต้องหาคดียาเสพติดไม่น้อยกว่า 75,000 ราย
ภายหลังลงนามเสร็จสิ้น นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่าศาลที่มีคลินิกจิตสังคมแล้ว รวม 8 แห่ง ได้แก่ ศาลอาญาธนบุรี, ศาลจังหวัดอยุธยา, ศาลจังหวัดเชียงใหม่, ศาลอาญาตลิ่งชัน, ศาลจังหวัดเกาะสมุย, ศาลแขวงเชียงใหม่, ศาลจังหวัดลำพูน และศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งวันนี้มีความสุขมากกับการทำงานในหน้าที่ รมว.ยุติธรรม การบูรณาการ 5 หน่วยงานในวันนี้เป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ ศาลยุติธรรมได้เปิดคลินิกจิตสังคม ตั้งแต่ปี 2560 ระบบตรงนี้มีความสำคัญมาก นักโทษยาเสพติดที่เข้ามาฟื้นฟูบำบัดรักษาโดยการให้ข้อมูลความรู้ได้ผลดีมาก การฟื้นฟูบำบัดในกิจกรรมอื่นมีผู้เสพกระทำผิดซ้ำ 20-30 เปอร์เซ็นต์ แต่คลินิกจิตสังคมจะมีผู้เสพซ้ำแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เรื่องนี้ตนได้เรียนประธานศาลฎีกาในการรับตำแหน่งของท่านเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา ผลการดำเนินการดีมาก ท่านอยากให้ ป.ป.ส. สนับสนุนเพิ่มเติม เราจะแก้ปัญหาผู้เสพยาได้มีประสิทธิภาพสูงสุดในเรื่องจิตสังคม เราวางแผนการดำเนินการเปิดคลินิกให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศใช้งบประมาณไม่มาก เมื่อครั้งเริ่มต้น 4 แห่ง ใช้งบแค่ 1-2 ล้านบาท