xs
xsm
sm
md
lg

ศาลแจงผลงานปี 62 คดีลดลง ยาเสพติดยังครองแชมป์ คดีสินเชื่ออันดับ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR online - “เลขาศาลยุติธรรม” แถลงพอใจ สถิติคดีปี 62 ลดลง โดยอันดับ 1 ยังเป็นคดียาเสพติด รองลงมาคดีสินเชื่อส่วนบุคคล โดยศาลชั้นต้นพิจารณาคดีให้เสร็จภายใน 2 ปี ได้เกือบ 100%



วันนี้ (19 ม.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมในภาพรวม ประจำปี พ.ศ. 2562 ระหว่างเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2562

นายสราวุธ กล่าวว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และ ศาลฎีกา สามารถพิจารณาให้เสร็จภายในเวลาเป้าหมายที่ประธานศาลฎีกาเคยให้นโยบายไว้ คือ ในส่วนของศาลชั้นต้นที่จะต้องพิจารณาคดีให้เสร็จภายใน 2 ปีนั้น สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายและนโยบายของประธานศาลฎีกา คิดเป็น 99.97% ส่วนศาลอุทธรณ์ที่จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 6 เดือน ก็สามารถดำเนินการได้ 98.64% ขณะที่ศาลฎีกาต้องพิจารณาคดีให้เสร็จภายใน 1 ปี ก็ดำเนินการได้ 86.41%

ขณะที่ศาลชั้นต้นทั่วประเทศ มีคดีสู่การพิจารณา 1,889,080 คดี พิจารณาเสร็จ 1,627,752 คดี, ศาลชั้นอุทธรณ์ มีจำนวน 64,225 คดี พิจารณาเสร็จ 57,924 คดี, ศาลฎีกา จำนวน 10,466 คดี พิจารณาเสร็จ 7,911 คดี

ซึ่งรวมทั้ง 3 ชั้นศาลแล้ว มีคดีที่ศาลรับพิจารณาไว้ทั้งสิ้น 1,963,771 คดี พิจารณาเสร็จ 1,693,587 คดี คิดเป็น 86% โดยแบ่งเป็นประเภทคดีแพ่ง 1,305,658 คดี 66% และคดีอาญา 658,113 คดี 34%

ส่วนสถิติจำนวนข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ 1. พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ 363,125 ข้อหา 2. สินเชื่อบุคคล 293,899 ข้อหา 3. พ.ร.บ.จราจรทางบก 213,888 ข้อหา 4. บัตรเครดิต 168,347 ข้อหา 5. กู้ยืม 138,420 ข้อหา 6. ขอจัดการมรดก 103,711 ข้อหา 7. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 92,472 ข้อหา 8. เช่าซื้อ (รถยนต์) 86,406 ข้อหา 9.ล ะเมิด 34,426 ข้อหา 10. พ.ร.บ.การพนัน 32,936 ข้อหา

นายสราวุธ ยังกล่าวถึงสถิติการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ กำไลข้อเท้า EM สำหรับตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทางของบุคคลมาใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยว่า รอบปีที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 8,129 เครื่อง

ซึ่งฐานความผิดสูงสุด 5 อันดับที่ใช้ ได้แก่ 1. พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ จำนวน 2,332 คดี 2. ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ จำนวน 1,609 คดี 3. พ.ร.บ.จราจรทางบก จำนวน 769 คดี 4. ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย จำนวน 675 คดี 5. พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ จำนวน 356 คดี

ส่วนศาลที่มีการใช้กำไลข้อเท้า EM สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. ศาลอาญา จำนวน 609 เครื่อง 2. ศาลจังหวัดนนทบุรี จำนวน 269 เครื่อง 3. ศาลจังหวัดภูเก็ต จำนวน 259 เครื่อง 4. ศาลจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 211 เครื่อง 5. ศาลอาญากรุงเทพใต้ จำนวน 207 เครื่อง

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรมการพิจารณาพิพากษาคดี (D-Court) ว่า ได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดและขยายผลระบบให้บริการข้อมูล และอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริม และผลักดันให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดีและสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีและการปฏิบัติงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน, มีระบบงานที่ทันสมัย ลดการใช้กระดาษและลดภาระในการจัดเอกสาร, พัฒนาระบบสารสนเทศศาลยุติธรรม บูรณาการความร่วมมือ รวมถึงขยายการเชื่อมโยงข้อมูลด้านต่างๆ กับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมบังคับคดี(ข้อมูลหมายบังคับคดี) กรมคุมประพฤติ (ข้อมูลผลการสืบเสาะและพินิจอำนาจ), กรมราชทัณฑ์ (ระบบข้อมูลผู้ต้องขัง), สำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ข้อมูลสารบบคดีกับระบบ NSW ของสำนักงานอัยการสูงสุด และระบบ CRIMES ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ข้อมูลคำสั่งห้ามออกนอกราชอาณาจักร) สำนักงานตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท (ข้อมูลหมายจับระบบ AWIS) ซึ่งจะส่งผลให้การอำนวยความยุติธรรมมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี

โดยแผนงานในปี 2563 นี้ ศาลยุติธรรมจะพัฒนาการเชื่อมต่อข้อมูลผู้ต้องหา กับหน่วยงานอื่น อย่างเช่น ระบบไบโอเมตริกซ์ ตรวจสอบใบหน้าบุคคล จะมีการหารือร่วมกันกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อพัฒนาร่วมกันภายในเดือน ก.พ.นี้ ให้เกิดการใช้งานอย่างทีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการตรวจสอบผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ และติดเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกราบอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต

เมื่อถามถึงกรณีที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้เชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลหมายจับกับ สตช. แล้ว กรณีการติดตามจับกุมตัวพ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จำเลยในคดีร่วมแกนนำ นปช.บุกที่ประชุมผู้นำอาเซียนที่พัทยา ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลจังหวัดพัทยาได้ออกหมายจับแล้ว แต่มีปัญหาพนักงานสอบสวนติดตามตัวไม่ได้ จะอ้างว้ายังไม่ได้รับหมายจับได้หรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า ตามขั้นตอน เมื่อศาลออกหมายจับแล้ว เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะติดตามตัวจำเลยมา ขณะที่ สตช. จะรับทราบหมาย อย่างไรก็ดี ในการบันทึกข้อมูลหมายจับที่ผ่านมา ตนได้กำชับให้บันทึกข้อมูลปัจจุบันทันที เพื่อให้ถึงหน่วยงานที่รับข้อมูลต่อ โดยจากปัญหาเรื่องนี้ก็เห็นว่าจะต้องมีการหารือเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการปฏิบัติ เพราะเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งในส่วนของสภาผู้แทนฯ ก็จะได้มีการหารือกันเกี่ยวกับการแจ้งข้อมูลที่ ส.ส.ถูกดำเนินคดีอาญาต่อไปเช่นกัน เพราะอาจต้องมีกรณีที่ ส.ส.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีตัวอย่างก่อนหน้านี้ที่ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้งได้แจ้งให้สภาผู้แทนฯ ทราบ เมื่อมีคดีตัดสิทธิ์ ส.ส. เพราะก่อนหน้านี้ ในส่วนของ ป.ป.ช.ก็เคยหารือกับศาลแล้วที่ต้องแจ้งข้อมูลให้ทราบเมื่อมีเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกดำเนินคดีอาญา เพราะตามกฎหมายบางกรณีจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวก็เป็นตัวอย่างที่เกี่ยวข้อวกัยหลายหน่วยงาน จึงต้องมีการประชุมหารือร่วมทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากความผิดพลาดที่ผ่านมา ส่วนเรื่องหมายจับที่ยังโต้แย้งกันว่าแม้มีข้อมูลหมายจับออนไลน์ยังต้องใช้หมายจับที่เป็นการดาษแสดงเมื่อเข้าจับกุมหรือไม่นั้น ก็จะต้องประชุมหารือ สตช. เพื่อบูรณาการแนวทางปฎิบัติ เพราะส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวข้อกับข้อกฎหมาย แต่ขอย้ำว่าในส่สนของสำนักงานศาลยุติธรรมตนได้สั่งการให้ออกหนังสือเวียนให้ลงข้อมูลทันที

เมื่อถามถึงความคืบหน้ากรณีที่คณะกรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ กต. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลาก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงตัวเองปลายปี 2562 นายสราวุธ เลขาธิการศาลยุติธรรม กล่าวว่า นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และสอบวินัยไปแล้ว ก็ได้มีการทำอย่างตรงไปตรงมาไม่มีการกดดัน ในส่วนคดีอาญาพนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา ได้ขออนุญาตประธานศาลฎีกาดำเนินคดีตามความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนปละเครื่องกระสุนปืน ซึ่งขณะนี้ครบกำหนดระยะเวลาฝากขังแล้ว แต่พนักงานอัยการยังไม่ได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดยะลา ซึ่งการดำเนินคดีอาญากับการสอบสวนทางวินัยจะทำควบคู่กันไป สำหรับตัวนายคณากรปัจจุบันยังปฏิบัติหน้าที่อยู่กองผู้ช่วยในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี






กำลังโหลดความคิดเห็น