MGR Online - รมว.ยธ.พร้อมเยียวยาครอบครัว “น้องกิ๊ก” สาวไซด์ไลน์ถูกฆ่ายัดถุงฝังดินภายใน ซ.เพชรเกษม 47 เตรียมตั้ง คกก.เฉพาะกิจศึกษา เพื่อแบ่งกลุ่มนักโทษโรคจิต 6 กลุ่ม ก่อนเสนอเพื่อตราเป็นกฏหมาย เป็นนักโทษที่ไม่ควรได้รับการลดโทษ
วันนี้ (11 ม.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) กล่าวถึงกรณีหญิงสาวถูกพบเป็นศพยัดถุงนำไปฝังดิน ว่า ในวันเกิดเหตุ พล.ต.ต.อิทธิพล อัฉริยประดิษฐ์ รอง ผบช.น. ดูแลงานสืบสวน พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงพื้นที่ซอยเพชรเกษม 47 กรุงเทพฯ หลังขอหมายค้นเข้าตรวจสอบบ้านพักของนายอภิชัย องค์วิศิษฐ์ หรือไอซ์ อายุ 41 ปี ลูกอดีตเจ้าของตลาดชื่อดัง เพื่อค้นหาร่างน้องกิ๊ก หญิงสาวที่ญาติแจ้งว่าหายตัวไปหลังมาคบหาอยู่กับ นายอภิชัย เมื่อเดือน ต.ค. 2562 โดยสืบทราบว่าถูกกักขังทำร้ายจนเสียชีวิต แล้วนำศพยัดถุงนำไปฝัง
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า สาเหตุของการกระทำความผิดเกิดจากน่าจะมีปากเสียงและใช้ไม้ทุบตีทำร้ายผู้ตาย เนื่องจากพยายามหลบหนีออกจากบ้าน ก่อนจับใส่หีบเหล็กไว้ในห้องนอนเป็นเวลา 2 วันจนเสียชีวิต ทั้งนี้ กรณีผู้เสียชีวิตไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ทายาทมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือในฐานะผู้เสียหายในคดีอาญา ได้แก่ ค่าตอบแทนกรณีถึงแก่ความตาย 50,000 บาท ค่าจัดการศพ 20,000 บาท และค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท รวมทั้งสิ้น 110,000 บาท
นายสมศักดิ์ยังกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณากรอบของผู้ต้องขังจำพวกพวกโรคจิตที่จะไม่ได้รับการลดโทษว่า ล่าสุดคณะกรรมการได้ประชุมเพื่อวางกรอบ โดยแบ่งกลุ่มความผิด คือ 1. ข่มขืนเด็ก หรือล่วงละเมิดทางเพศเด็ก 2. ฆ่าข่มขืนหรือข่มขืนในลักษณะวิปริตหรือทารุณโหดร้าย 3. ฆาตกรต่อเนื่อง 4. ฆาตกรโดยสันดาน กระทำผิดซ้ำซากและร้ายแรง 5. ฆาตกรโรคจิต 6. ฆาตกรที่มีพฤติกรรมโหดร้ายทารุณ (ฆ่าเด็ก ฆาตกรรมหมู่) โดยมีแผนการดำเนินการ คือ 1. แผนการดำเนินการที่สามารถดำเนินการได้ในทันทีหรือที่อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 2. แผนการดำเนินการได้ในทันทีแต่อยู่ในอำนาจของหน่วยงานหรือกระทรวงอื่น 3. แผนการดำเนินงานที่จะต้องออกเป็นกฎหมายผ่าน คณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า สิ่งที่คณะกรรมการต้องทำ คือ 1. เสนอแนวทางการดำเนินการตามแผนการดำเนินการทั้ง 3 ข้อ ให้ตนทราบเพื่อดำเนินการในส่วนที่อยู่ในอำนาจในทันที และในส่วนที่อยู่นอกเหนืออำนาจที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในทันทีจะต้องกำหนดกรอบเวลาการปฏิบัติให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม 2. กำหนดไทม์ไลน์ (TimeLine) ของการดำเนินการตามแผนการดำเนินการทั้ง 3 ข้อในทันที เพื่อแจ้งให้สาธารณะชนทราบถึงการดำเนินการ 3.รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการดำเนินการ ทั้ง 3 ข้อ ทุกสัปดาห์ โดยให้แยกในส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้วและในส่วนที่กำลังดำเนินการ ปัญหาอุปสรรคพร้อมแนวทางในการแก้ไข และรายงานให้ตนทราบ เพื่อรีบหาแนวทางในการแก้ไขต่อไป
นายสมศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่ให้คณะกรรมการช่วยนำเสนอ คือ 1. การพิจารณาแยกกลุ่มนักโทษตามสภาพความผิดร้ายแรง ที่ไม่สมควรได้รับการลดโทษตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ โดยต้องไม่ถือเอาความประพฤติในเรือนจำมาเป็นเกณฑ์ในการลดโทษเหมือนนักโทษทั่วไป 2. พิจารณาหลักเกณฑ์ในการไม่ลดโทษหรือให้ลดโทษได้น้อยที่สุดของนักโทษตามข้อ 1 3. พิจารณาแยกกลุ่มนักโทษตามสภาพความผิดที่พิจารณาแล้วเห็นว่าสมควร ได้รับการลดโทษมากกว่าหลักเกณฑ์ปกติหรือได้รับการพักโทษเร็วกว่าปกติ หรือให้ใช้วิธีอื่นในการควบคุมแทนการต้องขังในเรือนจำ 4. พิจารณาหลักเกณฑ์ในการลดโทษมากกว่าหลักเกณฑ์ปกติหรือพักโทษเร็วกว่าปกติ รวมถึงพิจารณาวิธีการอื่นๆ ในการควบคุมแทนการต้องขังในเรือนจำของกลุ่มนักโทษตามข้อ 3
“วันนี้สังคมเรายิ่งมีพฤติกรรมโหดร้ายและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะที่ผมดูแลกระทรวงยุติธรรม จะพยายามหาวิธีการเพื่อหามาตรการในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ไม่ใช่เพียงแค่ระยะสั้น แต่เราต้องทำให้เกิดความปลอดภัยในระยะยาวแบบบูรณาการร่วมกันในทุกๆหน่วยงาน โดยจะเร่งออกเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการให้สำเร็จโดยเร็วให้ได้ พวกนักโทษและผู้ทำความผิดร้ายแรง ที่เป็นเหมือนพวกเดรัจฉานทางกฎหมายนั้น ไม่สมควรที่จะได้รับการลดโทษ โดยตัวอย่างนักโทษ เช่น นายสมคิด พุ่มพวง ฆาตกรฆ่า 6 ศพ, ผู้ต้องหาคดีฆ่าหญิงสาวยัดถุงฝังดิน และมือปืนฆ่าปล้นร้านทอง จ.ลพบุรี เป็นต้น” รมว.ยธ.กล่าวทิ้งท้าย