อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นประธานมอบวุฒิบัตรให้ผู้ผ่านการอบรม โครงการ “การอบรมและจดแจ้งผู้ประสานการประชุมจัดทำแผนแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชน และการชดเชยเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย” และเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้เสียหาย ณ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร
วันนี้ ( 18 ธ.ค.) นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นประธานมอบวุฒิบัตรและทำพิธีปิดการอบรมโครงการ “การอบรมและจดแจ้งผู้ประสานการประชุมจัดทำแผนแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชน และการชดเชยเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย”โดยมี นางชมพูนุท สาตรวาหา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร นำผู้เข้ารับการอบรมและคณะผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง ณ อาคารศาลจังหวัดสมุทรสาคร โดยในโอกาสนี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ยังได้เป็นประธานในการเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้เสียหายอีกด้วย
สำหรับการจัดการอบรมโครงการดังกล่าวนั้นมีระยะเวลาทั้งสิ้น 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-18 ธ.ค.62 เพื่อเป็นการให้ความรู้ ความเข้าใจ กับคณะผู้พิพากษาสมทบ ในการแก้ไขบำบัด ฟื้นฟู แก่เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดให้กลับมาเป็นพลเมืองดีของสังคม อีกทั้งเป็นการบรรเทาเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายทั้งด้านจิตใจ และการชดใช้ค่าเสียหายทดแทนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีหัวข้อสำคัญๆ ที่ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องรับฟังและฝึกปฏิบัติกับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน อาทิ นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นายสุริยนตร์ โสตถิทัต ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ นางอุไรรัตน์ น้อยสุวรรณ รองอธิบดี นางเนตรดาว มโนธรรมกิจ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นางสาวสุภาภรณ์ ทองนิ่ม นักจิตวิทยาชำนาญการพิเศษ ศาลเยาวชน และครอบครัวกลาง เป็นต้น
ส่วนหัวข้อที่ต้องเข้ารับการอบรม ประกอบด้วย แนวทางและวิธีการเขียนแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูและความแตกต่างของการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 90 และ มาตรา 132, สาเหตุการกระทำความผิดของเด็กเยาวชนและแนวทางการช่วยเหลือ แก้ไข บำบัดฟื้นฟู และการส่งต่อในการประสานการประชุม, ขั้นตอนในการประชุมเพื่อจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู, ขั้นตอนการประชุมเพื่อจัดทำแผนแก้ไขบำบัด ฟื้นฟูแบบเน้นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ทั้งนี้ที่ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเนื่องจากมาตรการนี้ได้รับการออกแบบให้เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมปกติ เจตนารมณ์การใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นพิจารณา (มาตรา 90) ซึ่งมีเงื่อนไขกำหนดไว้ว่า เด็กหรือเยาวชนจะสามารถเข้าสู่มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นพิจารณา ได้ต้องเป็นคดีที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิดซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกินยี่สิบปี หากไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในเวลาใดๆ ก่อนมีคำพิพากษา และสำนึกในการกระทำ และผู้เสียหายยินยอม โจทก์ไม่คัดค้าน พฤติการณ์แห่งคดีไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร ศาลเห็นว่าอาจกลับตนเป็นคนดีได้ และผู้เสียหายอาจได้รับการชดเชยเยียวยาตามสมควร ศาลอาจมีคำสั่งให้จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้เด็กหรือเยาวชนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องปฏิบัติเสนอต่อศาล หากศาลเห็นชอบ ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว กรณีมีการปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูครบถ้วน ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสาระบบความ และยุติคดี