xs
xsm
sm
md
lg

“วัฒนา ยี่จีน” ฝ่าดงขวากหนาม สำเร็จด้วยคำว่าผู้นำ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



(Police Focus)

กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) คงเดินหน้าลุยปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาพักพิงผิดกฎหมาย ถึงแม้ไม่ใช่หน้างานหลักของ บช.น.แต่ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นต่อเนื่อง ล่าสุด จากการหารือกับ กอ.รมน.กทม.เรื่องคนจีนเข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย มีนอมินีคนไทยดูแลโดยเฉพาะห้างดังย่านพญาไท แล้วนำแรงงานและสินค้าจากจีนเข้ามาขาย

สรุปแล้วคนไทยได้แต่ค่าเช่า ไม่ได้ขายสินค้าและไม่ได้จ้างแรงงานไทย นอกจากนี้ ตรวจสอบแรงงานมี Work Permit ถูกต้องหรือไม่ เจ้าหน้าที่กำลังหาแนวทางแก้ไขปัญหา ส่วนกลุ่มบุคคลเป้าหมายได้มีการเฝ้าระวัง เรื่องข้อมูลพักอาศัยและการเข้าออกในพื้นที่ พล.ต.ต.วัฒนา ยี่จีน รอง ผบช.น.รับผิดชอบด้านงานต่างประเทศ (ตท.) ดูแลพื้นที่ บก.น.3 เคยเป็นแหล่งพักพิงคนร้ายในเหตุการณ์ระเบิดแยกราชประสงค์

“แสวงหาความร่วมมือในเรื่องการป้องกัน โดยการหามวลชนมาเป็นแนวร่วม ถ้าไม่มีเรื่องการข่าวทุกอย่างจบ พวกเขาจะเป็นฐานการข่าวให้เรา อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอิหม่าม เราทำงานร่วมกับ บช.ส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความสำเร็จอยู่ที่ความร่วมมือ แต่จะได้มาอย่างไรอยู่ที่ภาวะของผู้นำ เหมือนตอนที่ผมเป็นผู้การวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ” อดีต รอง ผบก.น.3 กล่าว

พล.ต.ต.วัฒนา เล่าย้อนประวัติว่า ผมเกิดในครอบครัวทหารเติบโตในค่าย ด้วยค่านิยมสมัยเก่าอยากให้ลูกรับราชการ เห็นชีวิตทหารตั้งแต่เด็กสอบเข้า ร.ร.เตรียมทหาร อยากเป็นตำรวจ เพราะเป็นชีวิตที่ไม่เคยสัมผัส ไม่ขัดใจพ่อแต่ยอมรับว่าแม่เกลียดตำรวจ ธรรมดาของคนไม่รู้อะไรก็เกลียดตำรวจไว้ก่อน จบ นรต.รุ่น 40 เป็น รอง สว.(สอบสวน) สภ.เมืองศรีสะเกษ ทำงานอยู่ จ.ศรีสะเกษ นาน 7 ปี

ต่อมาเป็น สว.(ปฏิบัติงาน กอ.รมน.) สกพ. สว.จร.สน.สุวินทวงศ์ สว.ฝอ.บก.น.4 รอง ผกก.4 บก.จร. รอง ผกก.ป.สน.บางมด รอง ผกก.ป.สน.บางชัน ได้รู้ระบบการทำงานป้องกันปราบปราม ซึ่งเป็นแม่แบบของ ตร.ทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การแสวงหาความร่วมมือ และการป้องกันโดยใช้ทฤษฎีทางแวดล้อม ในนครบาลสามารถเรียนรู้ได้ทุกอย่าง เนื่องจากผู้บังคับบัญชาสามารถถ่ายทอดความรู้ได้

แล้วมาขึ้น ผกก.สน.ภาษีเจริญ ที่นี่อยู่กันแบบครอบครัวไม่ค่อยมีเรื่องราว จนได้สัมผัสคำว่า เมืองหลวง ที่แท้จริงและคำว่า ตำรวจกรุงเทพ อย่างเต็มรูปแบบเมื่อตอนเป็น ผกก.สน.หัวหมาก จึงรู้ว่างานป้องกันปราบปรามที่เขาได้ถ่ายทอดวิชา ที่เราอาศัยประสบการณ์จากผู้บังคับบัญชา ได้เคี่ยวเข็ญกันนักกันหนาผมรู้เลยเพราะที่ หัวหมาก มีทุกรูปแบบ ผมว่าเป็นสถานที่หนึ่งที่ให้ตำรวจเรียนรู้ได้ดี

“มีมหาวิทยาลัยเปิดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ ม.รามคำแหง มีมหาวิทยาลัยที่คนรวยเรียนมากที่สุดในประเทศไทย คือ ม.อัสสัมชัญ (เอแบค) มีสนามกีฬาใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ ราชมังคลากีฬาสถาน มีสถานที่แสดงคอนเสิร์ตใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ อินดอร์ สเตเดียม รวมทั้งเป็นพื้นที่มีประชากรแฝงมากเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ มีนักศึกษาโดยเฉพาะพี่น้องชาวภาคใต้”

รองต๋อง เล่าว่า คนใต้มีค่านิยมเรียนกฎหมายและอาศัยอยู่บริเวณหน้า ม.รามคำแหง หรือเรียกกันว่า หน้าราม สิ่งแรกที่ต้องทำผมพยายามเข้าถึงมวลชนให้มากที่สุด 1. ให้ ม.รามคำแหง ร่วมมือกับเรา 2. ดึงหัวหน้ากลุ่มนักศึกษาต่างๆ ที่มีอยู่เยอะแยะมากมายเป็นแนวร่วมกับเรา เมื่อมีสถานการณ์ทางการเมืองทำไม ม.รามคำแหง ถึงมีเสียงแล้วเสียงดังซะด้วย เพราะเหนียวแน่นเกาะกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน

ช่วงนั้นกำลัง ตู้มต้าม แต่ผมผ่านมาได้ด้วยดี ทำให้มีประสบการณ์ มีแนวร่วมนักศึกษา อาจารย์ ทุกวันนี้ยังมี Connection ที่ดีต่อกันหากมีฐานการข่าวดี เมื่อเขาไปทางไหนก็สามารถป้องกันเหตุได้ คนใต้ถ้ารักใครเขาก็จริงใจด้วย แต่ยากตรงที่ทำอย่างไรให้เขารักเรา สุดท้ายพวกเขาเรียกผมว่า นายหัว ผมไม่ถือตัวถ้ามัวแต่นั่งในห้องทำงาน ก็ไม่มีทางที่จะได้ใจจากพวกเขา ซึ่งมีอิทธิพลทางด้านจิตใจสูงมากในพื้นที่

จากนั้นเป็น รอง ผบก.น.4 รับผิดชอบดูแลพื้นที่ สน.หัวหมาก พอมาเป็น รอง ผบก.น.3 แถวหัวหมาก เริ่มมีปัญหาฮึ่มๆ กันแล้ว ทีนี้ผมก้าวขึ้นมาเป็น ผบก.วพ.รพ.ตร.(วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ) ปี 2559 ทำผมหนักอกหนักใจมากสมควรเป็น ผบก.คนแรกที่จบจาก นรต.ก่อนหน้านี้มาจากสายแพทย์ล้วนๆ เมื่อเข้าไปมีการ แอนตี้ ผมอย่างหนักพวกเขามองว่า ผมไม่จบวุฒิพยาบาลและไม่มีความรู้ด้านนี้

“ถึงขนาดโดนปรามาสว่า อย่าให้รู้เรื่องวิชาการเลยเข็มฉีดยารู้จักหรือป่าว อีกอย่างคงคิดว่า การมาของผมจะมาปิดเส้นทางการเจริญเติบโตของเขาในอนาคต แต่ผมไปเป็นจังหวะที่ยังไม่มีใครครบขึ้น อาจารย์ในนั้นไม่ยอมรับผมเลยในเรื่องวิชาการ ซึ่งผมก็ยอมรับในส่วนนี้แต่ผมมีความเป็นผู้นำ การบริหารผมคิดว่าตัวเองไม่เป็นสองรองใคร เคยผ่านการบริหารโรงพักมาแล้วก็พร้อมลุย”

น.1-4 เล่าถึงช่วงเวลาน่าจดจำต่อว่า บังเอิญปีที่ผมมาครบรอบ 3 ปีที่ สภาการพยาบาล จากแพทยสภาเข้ามาตรวจเพื่อประเมินวิทยาลัยฯ เหมือนการประเมินโรงพักเพื่อประชาชน โดยมีหลักเกณฑ์กำหนดว่า เกรดเอ ได้รับยกเว้นการตรวจ 5 ปี เกรดบี ได้รับยกเว้นการตรวจ 4 ปี และ เกรดซี ได้รับยกเว้นการตรวจ 3 ปี ที่ผ่านมาวิทยาลัยฯได้เกรดซีมาโดยตลอด อาจารย์ดูผมแล้วก้มหน้าส่ายหัวเหมือนจะไม่ไหว

มีอยู่ 1 ข้อเป็นเรื่องการประเมินผู้นำโดนหัก 5 คะแนน เหลือ 95 คะแนน 1. ผู้การไม่ตรงตามสเปก และ 2. ผู้การไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ สุดท้ายผลออกมาได้เกือบ 90 คะแนน คำนวณแล้วได้เกรดบีเทียบเท่าทหารเรือและทหารอากาศ ได้รับคำชื่นชมหลังจากนั้นผมแก้ไขข้อระเบียบว่า คนที่มารับตำแหน่ง ผบก.วพ.รพ.ตร.จะต้องมีวุฒิจบจาก วิทยาลัยพยาบาลตำรวจเท่านั้น เพื่อให้เขามีกำลังใจ

ถึงเวลาผมย้ายไปเป็น ผบก.ภ.จว.นครนายก ผบก.ภ.จว.จันทบุรี เป็นผู้การที่ได้รสชาติความเป็นตำรวจ เราผ่านนครบาลมาแล้วเลยทำได้หมด และมาเป็น รอง ผบช.น.ผมยึดหลักการทำงาน 3 อย่าง คือ 1. มีวินัย 2. ทุกอย่างต้องโปร่งใส่ตรวจสอบได้ และ 3. ความเป็นธรรม ผมอยู่ที่ไหนมีแต่ลูกน้องตามมา ทุกวันนี้วิทยาลัยฯยังไม่ลืมผมเขาเรียกว่า อาจารย์ ผมเดินเข้าไปด้วยความภาคภูมิใจเป็น 1 ปีที่ไม่เสียเวลาเปล่า

รอง ผบช.น.พูดถึงเหตุการณ์ประทับใจว่า ครั้งเป็น ผกก.สน.หัวหมาก เกิดเหตุทหารเกณฑ์สังกัด ทอ.ยิงโชเฟอร์แท็กซี่ด้วยปืนเอชเค ที่เกิดเหตุตำรวจยืนรอแพทย์นานกว่า 1 ชั่วโมง ผมตัดสินใจพลิกศพเองแม้จะผิดขั้นตอนก็ตาม เนื่องจากฝนตกกลัวว่าจะหาหลักฐานยาก สุดท้ายสามารถแกะรอยติดตามคนร้ายได้ เวลา 23.45 น.พบรถแท็กซี่จอดอยู่บริเวณหน้าปั้มแก๊ส ถ.สุขาภิบาล 5

“ภายหลังทราบว่าคนร้ายเตรียมการณ์ยิงถล่มปั้มตอนเที่ยงคืน ถ้าผมยังรอแพทย์รับรองว่าเกิดหายนะแน่ เราสามารถช่วยชีวิตคนได้หลายชีวิต ผมพยายามเล่าให้ตำรวจน้องๆ ฟังว่า บางทีบางสิ่งบางอย่างมันก็ขัดกับหลักการ แต่การเป็นผู้นำการตัดสินใจต้องเด็ดเดี่ยว”
















กำลังโหลดความคิดเห็น