ศาลอาญาผุดโครงการประนอมหนี้นายประกัน 27-31 ส.ค.นี้ โดยลดค่าปรับให้นายประกันสูงสุด 40% แถมผ่อนชำระได้ 3 ปี เพื่อแก้ปัญหานายประกันเบี้ยวค่าปรับ ทำให้ไม่ถูกยึดทรัพย์ ฟ้องฉ้อโกง หรือติดเครดิตบูโร
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (6 ส.ค.) นายบุญชู ทัศนประพันธ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ “ร่วมใจไกล่เกลี่ย” ในเดือนแห่งการระงับข้อพิพาททางเลือก ซึ่งจะมีขึ้นตลอดเดือน ส.ค.นี้ โดยมี นายวิทยา บุญชัยวัฒนา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา, ผู้พิพากษาศาลอาญา, ผู้ประนีประนอมกว่า 50 คนร่วมพิธีเปิด ซึ่งภายในงานมีการจัดภาพนิทรรศการแสดงความสำเร็จในการเจรจาไกล่เกลี่ยหลายคดีที่ได้ดำเนินการตามแนวทางการระงับข้อพิพาททางเลือก
นายบุญชู ทัศนประพันธ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวในงานว่า การจัดโครงการ “ร่วมใจไกล่เกลี่ย” มีขึ้นมาตั้งแต่ช่วง ก.ค.ที่ผ่านมา จนถึงเดือน ส.ค.นี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความในศาลอย่างมากเนื่องจากเปิดโอกาสให้คู่ความสองฝ่ายได้เจรจากันเพื่อยุติข้อพิพาทด้วยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดและเป็นธรรม สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางเลือกและได้รับความพึงพอใจด้วยกันทุกฝ่าย
นายวิทยา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ในฐานะประธานคณะทำงานรับผิดชอบโครงการ “เจรจาประนอมหนี้ผู้ประกันประจำปี พ.ศ.2561” ว่า โครงการนี้จะมีขึ้นสัปดาห์วันที่ 27-31 ส.ค.นี้ รวมเวลา 5 วัน ซึ่งเป็นแนวทางส่งเสริมจัดการชำระค่าปรับนายประกัน หรือขอผ่อนชำระค่าปรับต่อศาล โดยนายประกันผู้ร่วมโครงการจะได้รับการพิจารณาลดค่าปรับตั้งแต่ 5-40% อีกทั้งยังจะทำให้นายประกันไม่ต้องถูกบังคับคดีอายึดทรัพย์ หรือยึดทรัพย์ขายทอดตลาดเพื่อมาจ่ายค่าปรับ
การดำเนินโครงการดังกล่าว คำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายและประโยชน์ของราชการเป็นสำคัญ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคแรก วางหลักว่า กรณีผิดสัญญาประกัน ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาหรือตามที่เห็นสมควรฯ ดังนั้นจากที่มีปัญหาเรื่องบังคับคดีผู้ประกันที่ผิดสัญญาประกันไม่สามารถติดตามตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลได้ ซึ่งบางรายต้องใช้เวลาในการบังคับคดียาวนานเพราะต้องติดตามหาทรัพย์จากกรณีใช้ตำแหน่งราชการประกันตัว หรือกรณีที่สามารถติดตามตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีมาส่งศาลได้ถือว่าลดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นเมื่อคำนึงถึงความพยายามของผู้ประกันตัว คือ นายประกันในการติดตามตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีแล้ว จึงเห็นว่าการลดค่าปรับตามสัญญาประกันจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายโดยราชการก็ไม่ได้เสียหายจากการลดค่าปรับนั้น เพราะการที่ศาลสั่งปรับหลักประกันก็ไม่ได้มุ่งหมายเพื่อจะแสวงหาเป็นรายได้เหมือนหนี้ในทางแพ่ง แต่การสั่งปรับนายประกันเป็นกระบวนการที่จะเร่งรัดให้ติดตามผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีมาส่งคืนศาลเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อการพิจารณาคดีและกระบวนการยุติธรรม จึงเกิดเป็นโครงการ“เจรจาประนอมหนี้ผู้ประกัน” ขึ้นมา ซึ่งศาลอาญาได้ดำเนินการมาทุกปีตั้งแต่ปี 2555 แล้วโดยเกณฑ์การพิจารณาจะให้เป็นดุลยพินิจของศาล ขณะที่รายงานผลดำเนินการบังคับคดีผู้ผิดสัญญาประกันตั้งแต่ปี 2555 - เดือน ก.ค.61 นี้ ปรากฏว่า มีสำนวนที่ค้างแล้วยกมา 2,194 คดี โดยบังคับคดีเสร็จ 60 คดี เป็นการชำระค่าปรับครบถ้วน 48 คดีได้รับการชำระค่าปรับรวม 7,517,223.70 บาท
แต่โครงการเจรจาประนอมหนี้ผู้ประกันประจำปี พ.ศ.2561ที่จะมีขึ้นปลายเดือน ส.ค.นี้ จะพิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา คือ ศาลอาญาได้กำหนดเป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเจรจาประนอมหนี้ผู้ประกันไว้อย่างชัดเจนเลยใน 3 ลักษณะ ซึ่งศาลอาญาได้แจ้งข้อหารือกับสำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว
โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเจรจาประนอมหนี้ผู้ประกัน ปี 2561 นี้ จะใช้ในคดีที่ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันที่เป็นเงินหรือโฉนดที่ดิน แต่การปล่อยตัวนั้นใช้ตำแหน่งบุคคลหรือตำแหน่งราชการเป็นหลักประกัน หรือใช้บุคคล
ซึ่งแบ่งเป็นคดีในช่วงปี 2555-2561 หากศาลสั่งปรับนายประกันแล้วพร้อม กรณีพร้อมจ่ายหมด ก็จะคำนวณส่วนลดให้ไม่เกิน 20%, กรณีจะผ่อนชำระแบบไม่เกิน 1 ปี ก็จะลดไม่เกิน 10%, กรณีผ่อนชำระ 1-3 ปี ก็ลดไม่เกิน 5%
คดีในช่วงปี 2550-2554 กรณีพร้อมจ่ายหมด ก็จะคำนวณส่วนลดให้ไม่เกิน 30%, กรณีจะผ่อนชำระแบบไม่เกิน 1 ปี ก็จะลดไม่เกิน 20%, กรณีผ่อนชำระ 1-3 ปี ก็ลดไม่เกิน 10%
คดีในช่วงปี 2549 ลงมา กรณีพร้อมจ่ายหมด ก็จะคำนวณส่วนลดให้ไม่เกิน 40%, กรณีจะผ่อนชำระแบบไม่เกิน 1 ปี ก็จะลดไม่เกิน 30%, กรณีผ่อนชำระ 1-3 ปี ก็ลดไม่เกิน 20%
ทั้งนี้ หากจะลดค่าปรับมากกว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ให้อยู่ในดุลพินิจของรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาขณะที่ยังมีเงื่อนไขกำหนดอีก 3 ข้อด้วยว่า 1.กรณีเลือกชำระทั้งหมดก็ให้ชำระภายในวันนั้น หรือภายใน 1 เดือนนับแต่ศาลมีคำสั่งประนอมหนี้ผู้ประกัน 2.กรณีผ่อนชำระ คือผ่อนได้เกิน 1 ปี หรือ 3 ปีแต่ศาลมีคำสั่งประนอมหนี้ผู้ประกัน 3.หากผิดนัดชำระตามที่กล่าวหา หรือผิดนัดชำระ 2 งวด ก็ให้ยกเลิกเงินตามจำนวนการประนอมหนี้ แล้วให้กลับไปรับชดใช้เงินเต็มตามสัญญาประกันหรือส่วนที่ค้างอยู่จากจำนวนที่ถูกปรับ
นายวิทยา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังกล่าวถึงประโยชน์ 6 ประการจากการเจรจาหนี้ค่าปรับด้วยว่า 1.ผู้ประกันสามารถขอผ่อนชำระได้ ขณะที่ศาลจะใช้ดุลพินิจอัตราที่เห็นสมควรหรืออาจมีคำสั่งงดปรับหรือลดค่าปรับได้ หรืองดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวทำให้ทรัพย์สินของผู้ประกันยังไม่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดหรือยึดไปขายทอดตลาด 2.กรณีผู้ประกันเป็นข้าราชการ ในระหว่างการปฏิบัติตามข้อตกลงการผ่อนชำระหนี้ ศาลจะไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ 3.หากผู้ประกันนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยส่งให้ศาลได้ หรือแจ้งเบาะแสที่อยู่ จนนำไปสู่การจับกุมได้ ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้งดปรับ หรือลดค่าปรับ หรือผ่อนชำระค่าปรับได้
4.กรณีที่ผ่อนชำระค่าปรับ ผู้ประกันที่ผ่อนชำระ ศาลจะไม่แจ้งพฤติกรรมกรณีผิดสัญญาประกันให้ศาลอื่นทราบ 5.หลักประกันหรือทรัพย์ของผู้ประกันไม่ต้องถูกบังคับคดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ของผู้ประกันที่จะรักษาทรัพย์สินของตนเองไว้ 6.ผู้ประกันที่ใช้ตำแหน่งข้าราชการเป็นหลักประกันและผิดสัญญาประกันต่อหลายศาล หากมาเจรจาหนี้จะไม่ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล
ส่วนผลเสียกรณีไม่เจรจาหนี้ค่าปรับ เช่น 1.ทรัพย์สินทุกชนิด เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง บัญชีเงินฝากธนาคาร สลากออมทรัพย์ หุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์และอื่นๆ จะถูกอายัดขายทอดตลาดได้ทั้งหมดจนกว่าศาลจะได้รับการชำระหนี้ค่าปรับเต็มจำนวน 2.หากผู้ประกันยักย้าย หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินไป ก็จะถูกดำเนินคดีอาญาฐานฉ้อโกงเจ้าหนี้ คือศาลได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ด้วยที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท 3.ผู้ประกันต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีเพิ่มขึ้น 4.กรณีผู้ประกันเป็นข้าราชการ ศาลอาจแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบและดำเนินการทางวินัย 5.กรณีที่ผู้ประกันเป็นพนักงานบริษัท เงินเดือน เงินโบนัส และรายได้อื่นๆ จะถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดและให้ส่งไปชำระค่าปรับต่อศาลตามกฎหมาย 6.ศาลอาจแจ้งข้อมูลการเป็นหนี้ของผู้ประกันกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของผู้ประกันกับสถาบันการเงินได้ 7.กรณีที่ผู้ประกันจะเป็นข้าราชการ หรือเป็นพนักงานภาคเอกชน ศาลจะแจ้งให้หน่วยงานต้นสังกัดหักเงินเดือน และเงินได้อื่นใดของผู้ประกันส้งมาชำระหนี้ค่าปรับในอัตราที่ศาลเห็นสมควร