กสม.หนุน สนช.-สนง.ศาลยุติธรรมแก้ ป.วิอาญา ป้องกันนักสิทธิมนุษยชน ถูกฟ้องปิดปาก ชี้เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
วันนี้ (2 ส.ค.) นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า จากข้อมูลการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระหว่างปี 2557-2560 และรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ปี 2560 พบว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยประสบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น หายตัวไป ถูกลอบสังหาร ถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน โดยการดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญาเพื่อยับยั้งหรือข่มขู่การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นการกดดันให้บุคคลที่ถูกดำเนินคดีต้องระงับการแสดงความคิดเห็น ยอมความ และยุติการตรวจสอบประเด็นสาธารณะ
ทั้งนี้ จากที่ กสม.ได้ติดตามร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่เสนอโดย สนช. และสำนักงานศาลยุติธรรม มีหลักการเพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราวและการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีอาญา โดยมาตรา 8 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อความว่า “ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 161/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่มีข้อความว่า...มาตรา 161/1 ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฏต่อศาลว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ศาลจะมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องคดีนั้นก็ได้ และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องคดีนั้นอีก คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่” นั้น ที่ประชุม กสม.ได้พิจารณาหลักการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายในการตราร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้ว เห็นสมควรสนับสนุนมาตรา 8 แห่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ให้เพิ่มมาตรา 161/1 พร้อมกับส่งความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปให้นายกรัฐมนตรีและประธาน สนช.พิจารณาแล้ว โดยหลักการในการตราร่างกฎหมายดังกล่าวสอดคล้องรัฐธรรมนูญ กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ประกอบกับแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมได้กำหนดให้มีการพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วย รวมถึงข้อเสนอของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่มีต่อรัฐบาลเมื่อต้นเดือนเม.ย. 2561 ว่ารัฐบาลยังควรดูแลว่าการฟ้องหมิ่นประมาทจะไม่ถูกธุรกิจนำมาใช้เป็นเครื่องมือบั่นทอนสิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรมของผู้ได้รับผลกระทบ องค์กรประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
“การเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 161/1 ใน วิ.อาญาจะเป็นการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องดำเนินคดีในลักษณะดังกล่าว รวมทั้งเป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลและชุมชนในการป้องกันตนเอง ปกป้องประโยชน์สาธารณะ ถือเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาพรวม และอาจส่งผลไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางสังคมอันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปีด้วย”