xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาสั่งรอกำหนดโทษ 3 ปี “ภูริชญา” อ.นิติฯ รามคำแหง ปฏิบัติหน้าที่มิชอบให้เกรด I นศ.ป.โท อ้างก้าวร้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลฎีกาคดีทุจริตฯ รอกำหนดโทษ 3 ปี “ภูริชญา” อาจารย์นิติฯ รามคำแหง ปฏิบัติหน้าที่มิชอบให้เกรด I นศ.ป.โท อ้างก้าวร้าว ทำพลาดสอบผู้พิพากษา ชี้เป็นถึงรองศาสตราจารย์ แต่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แก้จากรอการลงโทษให้เป็นรอการกำหนดโทษ 3 ปี

วันนี้ (19 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2322-2323/2561 ในคดีที่พนักงานอัยการและนายประสาร ศรีสุภนันต์ อาชีพทนายความ ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนางภูริชญา วัฒนรุ่ง อาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง เป็นจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงานซ่อนเร้นทำลายเอกสาร

คดีนี้นายประสารฟ้องว่า เมื่อปี 2547 โจทก์เป็นนักศึกษาปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ สอบไม่ผ่านวิชาบัณฑิตสัมมนา สาขากฎหมายมหาชน ที่มีอาจารย์สอน 3 คน จำเลยใช้อำนาจในฐานะเป็นอาจารย์ผู้สอนและเป็นผู้รวมคะแนน ให้เกรด “I” ทำให้โจทก์เรียนไม่จบ และขาดโอกาสในการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาสนามเล็ก เมื่อขอดูคะแนนจำเลยก็บ่ายเบี่ยง โดยจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 1 หมื่นบาท แต่จำเลยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้รอลงอาญา 1 ปี

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงเรื่องการขอดูคะแนนและการที่โจทก์ร่วมขอให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงแก้ไขคะแนนให้เป็นสอบได้นั้น เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2552 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้โจทก์ร่วมชนะคดีบางส่วน โดยให้ยกเลิกประกาศของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และมีคำสั่งให้มีการแก้คะแนนเป็นสอบได้ไปแล้ว ต่อมา เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2556 ศาลปกครองสูงสุดก็มีพิพากษายืนดังกล่าว จึงต้องพิจารณาว่าจำเลยมีเจตนาซ่อนเร้นเอกสารและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ร่วมเสียหายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ร่วมได้เกรด I ก็ได้ทำเรื่องร้องเรียนทำเรื่องขอดูคะแนนและใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ คณะกรรมการบัณฑิตศึกษาตรวจสอบแล้วพบว่าอาจารย์ท่านอื่นส่งเกรดในเวลาตามกำหนดและให้คะแนนโจทก์ร่วมในระดับดี แต่จำเลยไม่กรอกคะแนน ครั้นคณะกรรมการบัณฑิตหรือทางมหาวิทยาลัยขอดูคะแนนดิบ จำเลยก็บ่ายเบี่ยงอ้างว่าสมุดคำตอบไม่ได้อยู่ในครอบครองของจำเลยบ้าง หรือหาสมุดไม่พบบ้าง ทั้งที่เพิ่งสอบไปไม่นาน และมีข้อสังเกตว่าในวิชาเดียวกันมีนักศึกษาอื่นขาดสอบหรือได้คะแนนไม่ดีจำเลยก็ให้คะแนนสูงกว่า I ที่โจทก์ร่วมได้อยู่คนเดียว และจำเลยกลับอ้างว่าโจทก์มีท่าทีก้าวร้าวกับจำเลยซึ่งเป็นผู้บรรยาย สมควรลงโทษทางวินัยนักศึกษา และต้องหักคะแนน จนเรื่องนี้ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการรวมคะแนนดังกล่าว

ศาลเห็นว่า นางภูริชญา จำเลยเป็นรองศาสตราจารย์ ย่อมทราบถึงภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัยตามกฎหมาย รู้ถึงขั้นตอนปฏิบัติในการเปิดเผยสมุดคำตอบและวิธีปฏิบัติตามระเบียบตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ แต่กลับไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องและบ่ายเบี่ยงไม่ให้ดูสมุดคำตอบ หากนักศึกษาทำผิดวินัย จำเลยมีอำนาจเรียกมาตักเตือนหรือตำหนิเชิงลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดคะแนนจากสมุดคำตอบ ข้อเท็จจริงอื่นๆ เจือสมกับพยานโจทก์ปากอื่นๆ ทั้งโจทก์ยังมี นางสุขสมัย สุทธิบดี ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดอำนาจเจริญ เบิกความสนับสนุนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สมเหตุสมผล มีเอกสารประกอบจึงรับฟังได้ ขณะที่พยานฝ่ายจำเลยที่อ้างว่าจำเลยมีอำนาจหักคะแนนนั้น ไม่มีหลักฐาน ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

ศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและซ่อนเร้นทำลายเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 158 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุกและรอลงอาญานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะท้ายที่สุดทางมหาวิทยาลัยเองก็เปลี่ยนวิธีการให้คะแนนเสียใหม่ ดังนั้น การลงโทษโดยให้รอการลงโทษจึงไม่เหมาะสมกับกรณี จึงแก้เป็นให้รอการกำหนดโทษไว้เป็นเวลา 3 ปี ให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 1 ครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ศาลรอการกำหนดโทษไว้ และให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดๆ อันอาจนำไปสู่การกระทำผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก


กำลังโหลดความคิดเห็น