xs
xsm
sm
md
lg

ทนายร้อง ปปป.สอบกฤษฎีกาคณะพิเศษ อ้างมติ ครม.แก้ไข กม.คณะสงฆ์ ยันตรวจสอบแล้วไม่เคยมีมตินี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - เครือข่ายทนายปกป้องพระพุทธศาสนา ยื่นหนังสือ บก.ปปป.ตรวจสอบคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ อ้างมติคณะรัฐมนตรีแก้ไขร่างกฎหมายคณะสงฆ์ อ้างตรวจสอบแล้วไม่เคยมีมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้ ห่วงการเมืองแทรกแซงคณะสงฆ์

วันนี้ (3 ก.ย.) เวลา 13.00 น. ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) นายจรูญ วรรณกสิณานนท์ พร้อมด้วย น.อ.(พิเศษ) วินัย เสวกวิ และนายวรกร พงศ์ธนากุล เครือข่ายทนายปกป้องพระพุทธศาสนา เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป. เพื่อตรวจสอบคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) อ้างมติคณะรัฐมนตรีโดยมิชอบ โดยมีพนักงานสอบสวน บก.ปปป.เป็นตัวแทนรับเรื่อง

นายจรูญเปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้เปิดรับฟังความเห็นของพระภิกษุและประชาชนทั่วไปเพื่อประกอบการจัดทําร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ใหม่ โดยอ้างมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 เม.ย. 2560 ให้มีการจัดทําร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ด้วยเหตุผลข้อ 1. มหาเถรสมาคมบางรูปแก่ชราภาพไม่อาจปฏิบัติงานได้ต่อเนื่อง 2. พระบางรูปต้องคดี ไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน ทั้งนี้ เมื่อได้ตรวจสอบพบว่าไม่มีมติร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตนจึงเห็นว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพราะคณะสงฆ์เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหาย

นายจรูญกล่าวว่า ที่ผ่านมามหาเถรสมาคมได้ปกครองตามแบบแผนคณะสงฆ์ แต่เมื่อมีการแก้ไขอาจเปิดช่องทางให้นักการเมืองเลือกพระสงฆ์ที่ตัวเองควบคุมได้ ซึ่งศาสนาอาจจะได้รับความเสียหายตามมา หลังจากนี้จะเดินทางไปที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อร้องกรณีดังกล่าวต่อไป

ด้าน น.อ.(พิเศษ) วินัย กล่าวว่า เรื่องศาสนาควรแยกขาดจากการเมือง เพราะนักการเมืองมีหลายศาสนา ถ้าเอาการเมืองแทรกแซงศาสนา นักการเมืองอาจจะมีการสอดไส้เกิดผลเสียทางศาสนา ส่วนการเปิดรับฟังความเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวก่อนสรุปส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพียง 7 วัน ตนรู้สึกว่าเร่งรัดเกินไป รวมถึงหากไม่มีพระสงฆ์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ได้ร่วมร่างกฎหมาย สุดท้ายแล้วผลจะออกมาเป็นเช่นไร

เบื้องต้นพนักงานสอบสวน บก.ปปป.รับเรื่องดังกล่าวไว้ตรวจสอบ ก่อนเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น