xs
xsm
sm
md
lg

ออกหมายจับ “แม้ว” เบี้ยวนัดศาลคดีปล่อยเงินกู้กรุงไทย เดินหน้าสืบลับหลัง นัดตรวจหลักฐาน 26 ก.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาครั้งแรกคดีปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทยให้กฤษดามหานครโดยมิชอบ "ทักษิณ ชินวัตร"จำเลยและทนาย ไม่เดินทางมาศาล ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับ พร้อมเดินหน้าพิจารณาคดีลับหลังจำเลยตามกฎหมายใหม่ นัดตรวจพยานหลักฐาน 26 ก.ย.นี้

วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ถ.เเจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 13.30 น. องค์คณะคดีปล่อยกู้ ธนาคารกรุงไทย นัดพิจารณาคดีครั้งเเรกหมายเลขดำที่ อม.3/2555 (หมายเลขแดงที่ อม.55/2558) ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อายุ 68 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 เป็นจำเลยที่ 1 ร่วมกับนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 27 ราย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และ ความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ.2535 กรณีร่วมอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มกฤษดามหานครไปโดยทุจริต ทำให้ธนาคารเสียหาย

การพิจารณาคดีครั้งแรกนี้สืบเนื่องจากนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาล เมืิ่อปี 2560 ขอให้นำคดีนี้ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะในส่วนของ นายทักษิณ จำเลยที่ 1 ไว้ก่อนตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2555 ซึ่งถูกออกหมายจับติดตามตัวมาดำเนินคดีด้วยนั้น ขึ้นมาพิจารณาใหม่โดยไม่มีตัวจำเลยตามกฎหมายใหม่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ. 2560 มาตรา 28

โดยคดีนี้ได้กล่าวหานายทักษิณจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวก กระทำความผิด กรณีอดีตผู้บริหารธนาคารอนุมัติสินเชื่อจำนวนมากโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจของรัฐ โดยข้อเท็จจริงพบว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้

ต่อมามีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีเงื่อนไขระบุว่า บมจ.กฤษดามหานครฯ ไม่สามารถที่จะขอสินเชื่อได้อีก เนื่องจากมียอดขาดทุนสะสมสูง คือมียอดสะสมสูงมาก แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ 1. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวนเงิน 500 ล้านบาท 2. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ1,400 ล้านบาท) และ 3. การอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวนเงิน 1,185,735,380 บาท ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร ประโยชน์ส่วนตนกับพวก

โดยวันนี้ อัยการโจทก์เดินทางมาศาลร่วมกระบวนพิจารณา ส่วนนายทักษิณ จำเลย หรือทนายความ ไม่มาศาล เมื่อถึงเวลา องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาเเล้วเห็นว่า นายทักษิณ จำเลยที่ 1 ทราบนัดโดยชอบเเล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือแจ้งขอเลื่อน เชื่อว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับตาม วิ อม.มาตรา 28 พร้อมให้โจทก์ดำเนินการตามหมายจับ และให้รายงานผลการจับกุมให้ศาลรับทราบทุกเดือน

โดยกระบวนการพิจารณา เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มาศาลในการพิจารณาครั้งแรก ให้ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ตาม วิ อม.มาตรา 33 จึงให้นัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ เวลา 13.30 น. โดยให้อัยการโจทก์ ยื่นบัญชีพยานหลักฐานก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนวันนัด 14 วัน และให้ส่งหมายเเจ้งให้จำเลยทราบพร้อมปิดหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีของนายทักษิณนั้น ปัจจุบันอัยการสูงสุด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ขอให้นำคดีที่เคยจำหน่ายไว้ชั่วคราว รวม 4 สำนวน ขึ้นมาพิจารณาใหม่ ประกอบด้วย 1. คดีแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551

2. คดียื่นฟ้องนายทักษิณ ร่วมกับอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยกู้ให้กลุ่มกฤษดามหานคร โดยทุจริตฯ 3. คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้แก่รัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท และ 4. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) โดยคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นขอให้ยกคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่นั้น ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 6 ก.ค.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น