MGR Online - ดีเอสไอบูรณาการร่วม จ.สิงห์บุรี ลงนามในบันทึกข้อตกลง แชร์ลูกโซ่ถือเป็นวาระแห่งชาติ ให้ จ.สิงห์บุรี เป็นจังหวัดนำร่องเขตปลอดแชร์ลูกโซ่ 100 เปอร์เซ็นต์ในภาคกลาง
วันนี้ (12 มิ.ย.) เวลา 10.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี นายสุทธา สายวาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี พร้อมด้วย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อบูรณาการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดยจังหวัดสิงห์บุรีจะเป็นจังหวัดนำร่องเขตปลอดแชร์ลูกโซ่ 100 เปอร์เซ็นต์ ในภาคกลาง
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนากลไก เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการกระทำความผิดที่มีลักษณะอาชญากรรมพิเศษแชร์ลูกโซ่ซึ่งแพร่ระบาดเป็นจำนวนมาก โดยจะบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบ โดยใช้กลไกคณะกรรมการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบและอนุกรรมการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบในส่วนภูมิภาค ในระดับจังหวัด เพื่อเฝ้าระวัง สอดส่อง ดูแลไม่ให้เกิดการจัดเวทีหลอกลวงฉ้อโกงประชาชน และให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและผลตอบแทนที่ควรได้รับในการลงทุนปกติแก่ประชาชน โดยมีภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามาเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง
“แชร์ลูกโซ่เป็นการฉ้อโกงประชาชนที่หลอกลวงให้เหยื่อสมัครเป็นสมาชิกร่วมลงทุนในธุรกิจที่ไม่เน้นการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ แต่จะอ้างว่ามีผลตอบแทนสูง โดยใช้เงินของผู้สมัครรายหลังไปจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ที่สมัครรายแรกๆ และจะหยุดการจ่ายค่าตอบแทนในเวลาต่อมาแล้วปิดกิจการ พร้อมนำเงินที่ได้จากสมาชิกหนีไป ทำให้เกิดความเสียหายลุกลามในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และหากเป็นเรื่องที่มีความเสียหายในวงกว้าง หรือกระทำผิดซับซ้อนก็จะเป็นคดีพิเศษที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยระหว่างปี 2547-2560 มีคดีพิเศษเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษกว่า 150 คดี มูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท”
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “แชร์ลูกโซ่” เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นของธุรกิจที่ตนเองจะไปลงทุนว่ามีความเสี่ยงจะเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ โดยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือของตนเอง นอกจากนี้ ผู้เสียหายทั่วประเทศสามารถร้องทุกข์ ร้องเรียน ผ่าน 9 ช่องทางการสื่อสาร คือ (1) การติดต่อด้วยตนเองที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (2) การติดต่อผ่านเว็บไซต์ www.dsi.go.th (3) การยื่นหนังสือที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (4) ติดต่อผ่านสายด่วน หรือ Call Center 1202 โทร.ฟรีทั่วประเทศ (5) การติดต่อผ่าน Messenger Facebook ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (6) การติดต่อผ่านแอปพลิเคชัน DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ (7) การติดต่อผ่านตู้สีขาว รับเรื่องราวร้องทุกข์ (8) การติดต่อทางไปรษณีย์ และ (9) การติดต่อผ่านศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 1 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งรับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวนคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดในพื้นที่ภาคกลาง 9 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สระบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถนนอู่ทอง ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000 โทร. 08-1649-9205