ย้อนเวลากลับไป 9 ปี หลังเทศกาลสงกรานต์ 2552 ในช่วงที่บ้านเมืองประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมขณะนั้น ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. เวลานั้นเดือนเมษายน 2552 กำลังทหารของกองทัพยืนจังก้าพร้อมอาวุธเต็มพิกัดรักษาการณ์ตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญภายใน กทม. โดยเฉพาะตามสี่แยกที่มีสถานที่ราชการสำคัญๆ หนึ่งในนั้นคือสี่แยกบางขุนพรหม ที่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ เพราะเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งอยู่ไม่ไกลจากกองบัญชาการกองทัพบก และบ้านพักสี่เสาเทเวศร์
05.45 น.ของวันที่ 17 เมษายน 2552 ปฏิบัติการเย้ยอำนาจรัฐถูกกำหนดขึ้นที่บริเวณสี่แยกดังกล่าว ขณะที่รถโตโยต้า เวลไฟร์ สีดำ ทะเบียน วล 89 กทม. ขับผ่านสี่แยกบางขุนพรหมไปได้ราว 50 เมตร รถกระบะ 2 คันปรากฏขึ้นพร้อมกับคนร้ายที่นอนราบอยู่ท้ายกระบะ เงยตัวลุกขึ้นมาพร้อมอาวุธปืนสงครามในมือ ในท่านั่งยิงคล้ายคนที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดี โดยปากกระบอกปืนอย่างน้อย 2-3 กระบอกพุ่งตรงไปที่รถโตโยต้า เวลไฟร์ แล้วเสียงกึกก้องกัมปนาทของอาวุธร้ายก็ดังคำรามขึ้นถี่ยิบ จนกล่องรับเสียงของผู้คนที่อยู่รอบบริเวณนั้นราวกับจะดับลง
หลังปฏิบัติการเย้ยอำนาจรัฐจบลงเพียงไม่กี่วินาที ปลอกกระสุนปืนอาก้าจำนวน 64 นัด กระสุนปืนเอชเค 17 นัด เอ็ม 16 อีก 3 นัด ตกเกลื่อนถนน รวมทั้งกระสุนปืนเอ็ม 79 ที่ถูกยิงพลาดไปตกบนรถประจำทางสาย 30 อีก 1 นัด โชคดีที่ระเบิดลูกนั้นไม่ทำงาน! ทุกอย่างในบริเวณนั้นเงียบสงัดลงชั่วครู่ หลังจากที่รถกระบะคนร้ายเร่งเครื่องยนต์ไปตามถนนสามเสน มุ่งหน้าไปทางสี่แยกบางลำพูแล้วเงียบหายไป โดยยังไม่มีใครรู้ว่าคนในรถเป็นเช่นใด
เพียงเสี้ยวอึดใจหลังจากนั้น ปรากฏชายร่างท้วมสูงใหญ่ ใส่แว่นตา สวมเสื้อเชิ้ตสีขาว ทว่ากลับแดงฉานไปด้วยสีเลือด เปิดประตูรถเดินลงมาพร้อมโทรศัพท์มือถือ ว่ากันว่าเขาโทรศัพท์กลับมายังออฟฟิศของสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ด้วยประโยคเพียงสั้นๆ ว่า “พี่ถูกยิง” ถูกต้อง เขาคือ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ผู้ก่อตั้งสื่อในเครือผู้จัดการ และสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเอสทีวี อีกทั้งยังสวมหมวก “แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่ร่วมกันต่อสู้โค่นล้ม “ระบอบทักษิณ” โดยเขาถูกยิงระหว่างการเดินทางเพื่อไปออกรายการ “Good Morning Thailand” ในเวลา 06.00 น. ที่สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุไปเพียงราว 1 กิโลเมตร
“สนธิ ลิ้มทองกุล” ถูกยิงถล่มจนคมกระสุนฝังในขมับด้านขวาครึ่งเซนติเมตร รวม 4 ชิ้น ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฉีกขาดบริเวณใบหน้าด้านขวายาว 3 เซนติเมตร บาดแผลฉีกขาดเล็กน้อยทั่วไปบริเวณข้อมือขวา และแผลถลอกทั่วไปบริเวณลำตัวด้านข้างแถบขวา ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ซึ่งแพทย์นำเข้าห้องผ่าตัดเพื่อผ่ากะโหลกศีรษะนำคมกระสุนที่ฝังในออกจนปลอดภัย
นอกจากนี้ยังพบว่า นายอดุลย์ แดงประดับ คนขับรถถูกยิงอาการสาหัส คมกระสุนเจาะเข้าทรวงอกต้นแขนขวา และศีรษะ ทางคณะแพทย์โรงพยาบาลมิชชั่นได้รักษาด้วยการผ่าตัดสมอง ทรวงอก และกระดูกต้นแขนขวาโดยแพทย์ได้ผ่าเศษกระสุนทั้ง 3 จุด คือ ที่บริเวณสมอง และท้ายทอย เนื้อสมองบางส่วนได้รับความเสียหาย ส่วนนายวายุพักตร์ มัตทะสิน ผู้ติดตามได้รับบาดเจ็บกระสุนถากที่ไหล่ซ้าย บาดเจ็บเล็กน้อย
สื่อมวลชน สถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุ ต่างนำเสนอข่าวทั้งจากที่เกิดเหตุ และที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลกันตลอดทั้งวันอย่างต่อเนื่อง ทอล์กออฟเดอะทาวน์ในวันนั้นไม่พ้นคดีลอบสังหาร “สนธิ ลิ้มทองกุล” บ้างก็ว่าเป็นฝีมือของฝั่งตรงข้าม บ้างก็ว่าผู้มีอำนาจสั่งเด็ดหัว หรือแม้กระทั่งบ้างก็ว่า “สนธิ ลิ้มทองกุล” ลงทุนจัดฉากเอง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในขณะนั้น ส่ง พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลกองบัญชาการตำรวจนครบาลโดยตรงลงมาดูแลคดีนี้ และเมื่อ พล.ต.อ.จงรัก เรียกเจ้าหน้าที่ประชุมสืบสวนสอบสวนหาตัวคนร้ายที่ สน.ชนะสงครามแล้ว ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ยังไม่ตัดประเด็นเรื่องส่วนตัว และชู้สาวทิ้ง” สร้างความกังขาและระแวง ว่าเขาเข้ามารับหน้าที่ตัดตอนคดีหรือไม่? เพราะนายพลคนนี้ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” โดยเฉพาะ “สนธิ ลิ้มทองกุล” เหยื่อทีมล่าสังหาร ทว่า ในวันรุ่งขึ้น พล.ต.อ.พัชรวาท กลับมีคำสั่งแบ่งงานรับผิดชอบให้กับรอง ผบ.ตร.ใหม่ทั้งหมด โดยมอบหมายให้คือ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.เข้ามารับผิดชอบคดีนี้แทน
เมื่อชื่อ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ เข้ามารับผิดชอบคดี ผู้ที่เป็นห่วงเป็นใยในตัว “สนธิ ลิ้มทองกุล” เริ่มเจิดจรัสขึ้น ด้วยฉายา “นายพลไม้บรรทัด” ของนายตำรวจผู้นี้ แม้แต่ตัว “สนธิ ลิ้มทองกุล” เอง ในภายหลังจากที่รักษาตัวหายดีแล้ว เมื่อ พล.ต.อ.ธานีมาพบยังแสดงความเชื่อมั่นว่านายพลไม้บรรทัดผู้นี้จะสามารถช่วยคลี่คลายคดีได้อย่างตรงไปตรงมา
หลังจากที่ “นายพลไม้บรรทัด” ผู้ไม่เคยมีประวัติ “จับแพะ” ถูกมอบหมายให้เข้ามากุมบังเหียนในคดี พยานหลักฐานที่มีเริ่มปรากฏชัดขึ้น และในขณะนั้นหลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะสามารถติดตามจับกุมคนร้ายและผู้บงการได้ไม่ยาก พยานหลักฐานต่างๆ ที่เชื่อว่าน่าจะนำไปสู่การปิดคดีนั้นมีทั้งพยานบุคคล วัตถุพยานต่างๆ ตั้งแต่วินาทีเกิดเหตุจนถึงการเข้ามาควบคุมดูแลคดีของ พล.ต.อ.ธานี ในอีกหลายเดือนต่อมาที่เด่นชัด คือ พยานบุคคลซึ่งประกอบด้วย คนขับรถ และพนักงานเก็บตั๋ว ขสมก.ประมาณ 4 คน ยืนยันว่าขณะขับรถตามหลังรถนายสนธิมาถึงหน้าวัดเอี่ยมวรนุช เห็นรถกระบะไม่ทราบยี่ห้อและรุ่น ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ขับแซงรถคันเกิดเหตุไปจอดด้านหน้า จากนั้นคนร้ายที่นั่งกระบะท้าย 2 คนลุกขึ้นนั่งแล้วใช้อาวุธสงครามยิงใส่รถนายสนธิ ก่อนที่คนร้ายหลบหนีไป พยานเด็กปั๊๊มที่เห็นเหตุการณ์อีก 2 คน ชุดสืบสวนยังได้พยานปากสำคัญซึ่งเห็นเหตุการณ์อย่างละเอียดตั้งแต่คนร้ายเริ่มลงมือจนเหตุการณ์ยุติ ซึ่งคนร้ายได้พยายามสังหารพยานโดยการยิงใส่ แต่พยานหลบทัน โดยพยานสำคัญได้อยู่ในความคุ้มครองของชุดสืบสวนในเวลาต่อมา
• กล้องวงจรปิด 206 ตัว พบกระสุนทหาร แต่จับใครไม่ได้สักคน
พยานหลักฐานกล้องวงจรปิด CCTV บริเวณแยกบางขุนพรหม ซึ่งใช้ได้บางตัว รวมทั้งกล้องวงจรปิดทั้งหมด 206 กล้อง ในวันเกิดเหตุบริเวณแยกต่างๆ ตั้งแต่บริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล เช่น แยกวังแดง แยกสวนมิสกวัน แยกพระบรมรูปทรงม้า รวมทั้งภาพจากกล้องวงจรปิดจากร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ธนาคาร และทางด่วนทุกจุด โดยที่กล้องวงจรปิดสามารถบันทึกรถที่คนร้ายไว้ได้ โดยภาพทีวีวงจรปิดของปั๊มน้ำมันบางจาก สาขาถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ขาเข้า พบรถยนต์กระบะโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีเปลือกมังคุด หมายเลขทะเบียน บธ 1474 ลพบุรี จอดอยู่เวลา 04.46 น. ต่อมาได้ขับออกไป จากนั้นในเวลา 05.44 น. เจ้าหน้าที่พบภาพทีวีวงจรปิดจากปั๊มน้ำมันอีกแห่งหนึ่งในถนนสายเดียวกัน แต่เป็นเส้นขาออกในเวลา 05.44 น. ซึ่งทีมสืบสวนได้จำลองเหตุการณ์ว่ารถยนต์กระบะวีโก้ได้มาจอดรถเวลาที่ปั๊มน้ำมัน ก่อนที่จะเดินทางไปยังจุดเกิดเหตุ โดยที่รถกระบะมาสด้าได้ทำการประกบรถของนายสนธิมาจากบ้านพัก จากนั้นจึงมาลงมือพร้อมกัน ก่อนที่จะวิ่งประกบตามกันมา เลี้ยวขวาตรงแยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง ก่อนจะขึ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ออกนอกเมืองไปพร้อมกัน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องแปลกแต่จริง เพราะมีกล้องวงจรปิดถึง 206 ตัว แต่ไม่สามารถตามจับกุมคนร้ายได้แม้แต่รายเดียว
พยานหลักฐานจากอาวุธปืน และกระสุนที่ใช้ก่อเหตุ ประกอบด้วย เอ็ม 16 อาก้า เอชเค เอ็ม 203 โดยกระสุนปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 ขนาด 5.56 มม.จำนวน 3 ปลอก ซึ่ง 2 ใน 3 เป็นกระสุนที่ผลิตโดยกรมสรรพาวุธทหารบก มีการตีตราสัญลักษณ์ RTA = ROYAL THAI ARMY โดยหลักฐานชิ้นนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้นยอมรับว่าเป็นกระสุนที่มาจากกองพลทหารราบที่ 9 ซึ่งอยู่ในสายงานการบังคับบัญชาของกองทัพภาคที่ 1 แต่เป็นกระสุนที่ใช้ในการฝึกยิงและได้มีการรั่วไหลออกมา แต่หลักฐานอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุนั้น พล.ต.อ.ธานียอมรับว่ายังไม่พบ แต่ก็ไม่มีผลต่อการดำเนินคดี เนื่องจากมีพยานแวดล้อมและหลักฐานอื่นอีก
หลักฐานรถยนต์ที่ใช้ก่อเหตุคันแรก รถยนต์กระบะโตโยต้าวีโก้ สีเปลือกมังคุด ทะเบียน บธ 1474 ลพบุรี ที่ยืนยันแน่นอนว่าเป็นรถที่คนร้ายนำมาก่อเหตุ นอกจากนั้นยังมีหลักฐานการใช้โทรศัพท์มือถือของกลุ่มคนร้ายที่พบว่ามีการติดต่อกันในช่วงก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ รวมทั้งหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ จากการตรวจสอบรถยนต์ของนายสนธิ และสภาพการจำลองวิถีกระสุน รวมทั้งการตรวจลายนิ้วมือแฝง และคราบเขม่าดินปืนจากรถคันที่ใช้ก่อเหตุ
ส่วนหลักฐานสำคัญ คือ ประจักษ์พยาน 2 คนที่เห็นคนร้ายอย่างชัดเจน และถือเป็นหลักฐานที่ทำให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ใช้ตัดสินใจในนาทีสุดท้าย โดย พล.ต.อ.ธานีตอบคำถามผู้สื่อข่าวไว้อย่างน่าคิดในขณะนั้นว่า “เวลาคนธรรมดาลงมือ ตำรวจทำงานไม่ยาก” ก่อนที่จะเสนออนุมัติหมายจับกุมผู้ต้องหาที่ร่วมกันก่อเหตุยิงถล่มนายสนธิ 2 คน ประกอบด้วย ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ หรือ นายอรรถพล ปาทาน จนท.ศูนย์ข่าว บช.ปส.ช่วยราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ จ.ส.อ.ปัญญา หรือ ห่อ ศรีเหรา ทหารศูนย์สังกัดสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี จากนั้นไม่นานจึงขออนุมัติหมายจับ ส.อ.สมชาย บุญนาค สังกัดกองร้อยกองบังคับการกรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี รวมผู้ต้องหาในคดีนี้ 3 คน
ผู้ต้องหาลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล (จากซ้ายไปขวา) จ.ส.อ.ปัญญา ศรีเหรา อดีตทหารหน่วยรบพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ (เสียชีวิตแล้ว), ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ หรือนายอรรถพล ปาทาน จนท.ศูนย์ข่าว บช.ปส.ช่วยราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ส.อ.สมชาย บุนนาค สังกัดกองร้อยกองบังคับการกรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี
เวลาผ่านไปหลายปี ผู้ต้องหาทั้ง 3 คนยังไม่ถูกจับกุม และยังไม่เข้ามอบตัว ในขณะที่คดีเริ่มเงียบหายไปเรื่อยๆ ซึ่ง “สนธิ ลิ้มทองกุล” คงทำใจได้แล้วว่าคงเจ็บตัวฟรี แม้ตนเองจะรู้อยู่เต็มอกว่า “เป็นฝีมือใคร?” แต่ทว่าผู้มีอำนาจจับกุมกลับไม่ดำเนินการอะไร จนเป็นเหตุให้คดีความถูกตัดตอนลงแค่ 3 หมายจับผู้ต้องหาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ต้องหานั้น ส.ต.ท.วรวุฒิ ดูเหมือนจะเป็นบุคคลคนเดียวที่จะสามารถเชื่อมโยงไปถึง “ตัวละคร” คนสำคัญหลายคนในคดีนี้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่าง ส.ต.ท.วรวุฒิกับบุคคลกลุ่มหนึ่งในสังกัดของ ส.ต.ท.วรวุฒิเอง นั่นคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งกลับมาเป็นใหญ่ได้ดิบได้ดีที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้หลังรัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทยขึ้นครองอำนาจ
เมื่อเวลาล่วงเลยเข้า 4 ขวบปี แต่คดีได้ถูกตัดตอนลงแค่หมายจับดังที่กล่าวมาข้างต้น ขณะที่ พล.ต.อ.ธานี ได้เกษียณอายุราชการลงไปตามวาระ ภาระถูกโอนมาอยู่ในความดูแลของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ปรึกษา (สบ 10) ก็เกษียณอายุไปอีกคน จนในที่สุดคดีก็เงียบหายลงไปตามกาลเวลา ไม่มีอะไรคืบหน้า มีเพียงข้อมูลจากฝั่งนายสนธิเองที่ระบุว่าคนสั่งการให้ลอบสังหารตนนั้นเป็นทหาร คนดำเนินการก็เป็นทหาร และกระสุนก็มาจากทหาร
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2556 มีเพียงรายงานจาก สภ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่ได้รับแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตที่บ้านพักแห่งหนึ่ง ณ บ้านเลขที่ 201 หมู่ 5 ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยเมื่อตรวจสอบพบว่า คือ จ.ส.อ.ปัญญา ศรีเหรา อายุ 47 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คดียิงนายสนธิ และมือปืนรับจ้างอันดับที่ 6 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการตัวเท่านั้น ส่วนตัวคดี ผู้ต้องหาอื่นๆ รวมไปถึงผู้บงการก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เช่นเดิม (อ่าน : ตายแล้ว “ปัญญา ศรีเหรา” มือยิง “สนธิ” โดนมะเร็งเล่นงาน)
จาก 17 เมษายน 2552 ถึง 17 เมษายน 2561 เวลาล่วงเลยมา 9 ปีเต็มๆ คดีการลอบสังหารสื่อมวลชนและผู้นำมวลชนคนสำคัญ ที่ถือว่าเป็นการลอบสังหารกลางเมืองหลวงที่อุกอาจที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทย ทุกวันนี้นายสนธิเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยอมรับคำพิพากษาศาลอย่างอกผายไหล่ผึ่ง ยอมรับในกฎหมายบ้านเมือง แต่ถามว่า ณ วันนี้จะมีใครที่สามารถทวงถามความยุติธรรมให้แก่ชายผู้นี้หรือไม่ ... ฤๅคำตอบจะอยู่ในสายลม